ลักษณะที่โดดเด่นคือ เป็นมัสยิดที่มีลักษณะรูปร่างคล้ายกับวัดทางพุทธศาสนา ตัวอาคารเป็นเรือน สองขนาดเชื่อมต่อกัน มีหลังคาสองชั้น อาคารหลังเล็กยื่นไปทางทิศตะวันตกมีหลังคาเป็นทรงปั้นหยาทั้งสองชั้นมีเก๋งจีนตั้งอยู่บนมุมหลังคาที่ด้านหน้า ส่วนอาคารหลังใหญ่มีหลังคาทรงหน้าจั่วปลายแหลมคล้ายหลังคาโบสถ์ ตั้งอยู่ด้านบนของหลังคาทรงปั้นหยาที่รองรับอยู่ด้านล่าง เมื่อมองจากที่ไกลจะเห็นภาพหลังคาโบสถ์ตั้งเด่นบนฐานเหมือนพานรองรับ โดยมีเก๋งจีนอยู่เคียงข้าง ทำให้ดูสวยงามอลังการอย่างไม่มีที่ใดเหมือน แตกต่างกับมัสยิดที่พบเห็นโดยทั่วไป
มัสยิดหลังนี้จึงเห็นได้ชัดถึงการผสมผสานระหว่างศิลปะแบบไทย จีน มลายู โดยส่วนที่เป็นหลังคาหน้าจั่วคล้ายกับโบสถ์ เป็นศิลปะแบบไทยที่นิยมสร้างในพื้นที่ภาคกลาง ส่วนหอสี่เหลี่ยมที่คล้ายกับเก๋งจีนซึ่งมีหน้าต่างทั้ง ๔ ด้าน เป็นศิลปะแบบจีน นิยมสร้างเป็นศาลาสามารถพบเห็นตามที่สาธารณะหรือสุสานของชาวจีน สำหรับเป็นที่ตะโกนบอกเมื่อถึงเวลาละหมาดหรือเสียงอาซาน ซึ่งต้องตั้งอยู่ในที่สูงเพื่อให้เสียงกระจายออกไปไกล ส่วนอาคารทรงปั้นหยาที่ตั้งเป็นฐานรองรับที่ด้านล่างเป็นรูปแบบของศิลปะแบบมลายูในภาคใต้ตอนล่าง
นอกจากความสวยงามที่เกิดจากการผสมผสานของศิลปะทั้งสามลักษณะดังกล่าวแล้ว ขนาดของหลังคารูปแบบต่างๆ มีขนาดสัดส่วนที่สื่อความหมายกับจำนวนประชากรเชื้อสายต่างๆ
กล่าวคือ หลังคาทรงปั้นหยาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดหมายถึงชาวมลายูที่มีจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่ง
รองลงมาเป็นชาวไทยพุทธซึ่งสอดคล้องกับขนาดของหลังคาโบสถ์ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าทรงปั้นหยา
ส่วนเก๋งจีนที่มีขนาดเล็กที่สุดหมายถึง ชาวไทยเชื้อสายจีนซึ่งมีจำนวนน้อยที่สุด นับเป็นความมหัศจรรย์ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นความบังเอิญหรือเจตนาของผู้ก่อสร้างในยุคนั้น
ไม่เพียงแต่ความอัศจรรย์จากสิ่งที่ได้กล่าวแล้ว
ส่วนประกอบอื่นๆ ที่เป็นงานจิตรกรรมการแกะสลักประดับรอบอาคาร ก็มีความแตกต่างเช่นเดียวกัน เริ่มตั้งแต่จันทัน ที่ห้อยเรียงรายใต้ชายคา บางอันแกะสลักเป็น ดอกบัวบาน ดอกนมแมว มากมายหลากหลายรูปแบบ
ส่วนช่องลมที่ทำด้วยไม้กระดานตั้งระหว่างฝากับเพดาน มีการแกะสลักและฉลุเป็นลวดลายต่างๆ
เช่น ลวดลายที่โค้งมนอ่อนช้อยเหมือนลายกนกแบบลายไทย
บ้างเป็นลวดลายเส้นตรงตัดเป็นช่องเล็ก ๆ อย่างละเอียดเป็นระเบียบแบบที่ชาวจีนนิยมใช้
อีกทั้งลายเถาว์ที่คล้ายไม้เลื้อยซึ่งเป็นที่นิยมของชาวมลายูในภาคใต้ วางสลับอยู่รายรอบอาคารทั้งสี่ด้าน
เป็นสิ่งที่ตอกย้ำความลงตัวและงดงามจากจากความหลากหลายที่คนส่วนใหญ่มองข้าม
มัสยิด ๓๐๐ ปี ปัจจุบันยังใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา
เป็นศูนย์กลางของชุมชน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สำหรับต้อนรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะชาวอาเซียนที่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกันนอกจากเป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่าแล้ว มัสยิด ๓๐๐ ปี ยังเป็นเสมือนปริศนาที่จะสื่อมายังอนุชนคนรุ่นหลังให้รับรู้ว่า ความงดงามย่อมเกิดขึ้นได้จากการรู้จักใช้ศิลปะผสมผสานระหว่างความหลากหลาย การรู้จักคุณค่าและเคารพในสิ่งที่แตกต่าง ซึ่งถือเป็นปรัชญาการดำเนินชีวิตในสังคมพหุวัฒนธรรมที่จะนำไปสู่ความสันติสุขชั่วกาลนาน