วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2559

พรรษานี้ที่ชายแดนใต้

ที่มา นสพ.ข่าวสดฉบับวันที่ ๒๖ ส.ค.๕๙
โดย ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค ๔ สน.
             “บุคคลแม้จะงดงามด้วยเครื่องประดับอันมีค่า ก็ยังไม่งามเท่าผู้มีศีลเป็นอาภรณ์” พุทธวจนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ตรัสอุปมาเปรียบเทียบคุณค่าความงามอันเป็นรูปธรรม กับความงามอันเป็นนามธรรมของบุคคลที่มาจากจิตใจอันดีงาม ที่ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ ที่ปฏิบัติโดยทั่วไป หรืออุโบสถศีลที่ถือปฏิบัติในวันสำคัญทางพุทธศาสนา เช่น วันธรรมสวนะ รวมทั้งในช่วงของการเข้าพรรษา 
             ในสมัยพุทธกาลพระภิกษุต้องเดินทางเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนในที่ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงฤดูฝนจึงทำให้เกิดความเสียหายแก่พืชผลที่เพาะปลูก อีกทั้งไม่สะดวกในการเดินทาง พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษา กำหนดเป็นพระธรรมวินัยให้พระภิกษุสงฆ์หรือเถรวาท อยู่ประจำกับที่ โดยอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ วัดใดวัดหนึ่งตลอด ๓ เดือน โดยไม่ไปค้างงแรมที่อื่น อันเป็นช่วงฤดูฝนหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "จำพรรษา" เป็นช่วงเวลาสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกันภายในอาวาส หรือสถานที่ใดที่หนึ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วยกัน และถือเป็นโอกาสอันดีที่พุทธศาสนิกชนจะได้บำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญตักบาตรฟังพระธรรมเทศนา นอกจากนี้สิ่งที่พุทธศาสนิกชน ได้ร่วมมือกันจัดเพื่อเป็นพุทธบูชา คือ การหล่อเทียนพรรษาถวาย และถวายผ้าอาบน้ำฝน แด่พระสงฆ์สำหรับใช้ในระหว่างจำพรรษา และในโอกาสนี้พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่จะมีการปวารณาตัว ในการลดละเลิกอบายมุข เช่นการงดเหล้าเข้าพรรษา
 
            แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของพระภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญรักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปร่วมกันทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่นๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องสักการะบูชา ฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลที่วัด พุทธศาสนิกชนนิยมจัดพิธีบรรพชาอุปสมบทให้บุตรหลานของตน โดยเชื่อกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษา  เป็นการทดแทนบุญคุณบิดา มารดา ที่จะได้รับอานิสงส์สูง พระภิกษุจะสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้าเย็น ซึ่งจะต้องจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย ดังนั้นพุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงพร้อมใจกันหล่อเทียนพรรษา ถวายแด่พระสงฆ์ ปัจจุบันยังคงปฏิบัติเป็นประจำทุกปีจนเป็นประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่โบราณกาล ซึ่งเมื่อหล่อเสร็จแล้วก็จะนำไปประดับตกแต่งอย่างสวยงาม และนำไปจัดขบวนแห่ ก่อนที่จะนำไปถวายแด่พระภิกษุเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป   
            ในปัจจุบันการหล่อเทียนพรรษากลายเป็นประเพณีสำคัญ บางแห่งจัดเป็นเทศกาลประจำปี มีการประกวดขบวนแห่ที่ประดับประดาอย่างสวยงาม และมีการหล่อเทียนเป็นรูปปั้นต่างๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา ซึ่งนอกจากเป็นความสวยงามที่สร้างความตื่นตาต่อผู้เที่ยวชมแล้ว ยังทำให้ระลึกถึงพุทธประวัติ และพระธรรมคำสอน แล้วย้อนกลับมาระลึกนึกถึงตนเอง ว่าที่ผ่านมาได้ปฏิบัติตนอยู่ในศีลในธรรมเพียงใด จะได้ใช้โอกาสแห่งการเข้าพรรษาแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด ปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการถวายเทียนในเทศกาลเข้าพรรษา เป็นการนำแสงสว่างส่องธรรมเข้ามาในจิตใจ และนำแสงธรรมมาใช้ในประจำวัน นำทางให้ชีวิตเดินไปในความถูกต้อง เกิดความสงบสันติต่อตนเอง และผู้อื่น ซึ่งหลักธรรมประการหนึ่งของศาสนาพุทธคือ การมีความเมตตาและความกรุณา คือความปรารถนาดีอยากให้คนอื่นเป็นสุข และพ้นทุกข์ มีความรักใคร่ต่อมนุษย์ด้วยกันรวมทั้งสรรพสัตว์ทั้งหลาย ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จึงส่งผลให้พุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ย่อมเป็นที่รักใคร่ของคนทั้งหลาย
 
             จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นดินแดนที่มีผู้คนหลากหลาย ทั้งชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีนอยู่รวมกันอย่างกลมเกลียวนับตั้งแต่อดีต จึงมีความหลากหลายทั้งด้านประเพณี ศิลปะและวัฒนธรรม ที่เป็นจุดเด่นของพื้นที่ ภารกิจของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า นอกเหนือจากดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและส่งเสริมการพัฒนาในพื้นที่แล้ว การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและการส่งเสริมการปฏิบัติศาสนกิจของทุกศาสนาถือเป็นภารกิจที่สำคัญด้วยเช่นกัน
             ดังนั้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการปฏิบัติศาสนกิจของประชาชนในพื้นที่ จึงครอบคลุมทุกศาสนา เช่นศาสนาอิสลามในช่วงเดือนรอมฎอน ได้สนับสนุนอินทผลัมและสิ่งของต่างๆ เพื่อใช้ในการละศีลอด พร้อมส่งเสริมให้กำลังพลที่นับถือศาสนาอิสลามได้ปฏิบัติศาสนกิจ ส่วนในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ได้มีการจัดโครงการ หลอมรวมใจคนไทยทั้งชาติ อุปสมบทภิกษุเพื่อสืบสานพระพุทธศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ประจำปี ๒๕๕๙ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งมีผู้ที่เข้าร่วมอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ ตามโครงการดังกล่าว จำนวน ๑๙ รูป เพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนาและแก้ปัญหา วัด สำนักสงฆ์ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา หรือพำนักอยู่ประจำ ตลอดจนมอบหมายให้หน่วยเฉพาะกิจจังหวัด ดำเนินกิจกรรมถวายเทียนพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน พร้อมด้วยสิ่งของอุปโภค บริโภค แด่พระสงฆ์เพื่อใช้ในระหว่างการจำพรรษาในวัด และสำนักสงฆ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน ๓๑๖ วัด เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร รวมทั้งพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ พร้อมทั้งส่งเสริมให้กำลังพลที่นับถือศาสนาพุทธได้ร่วมทำบุญและปฏิบัติธรรมร่วมกับพี่น้องพุทศาสนิกชนในพื้นที่ด้วย เช่นการทำบุญตักบาตร การเวียนเทียน ซึ่งนอกจากศาสนาพุทธและศาสนาอิสลามแล้ว กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า ยังให้ความสำคัญกับเทศกาลกินเจของชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ด้วย   
               ทั้งนี้เชื่อว่า ทุกศาสนิกต่างยึดมั่นในหลักศาสนาอันถูกต้อง ไม่ตกเป็นเหยื่อการใส่ร้ายของผู้ไม่หวังดี และมุ่งปฏิบัติต่อกันดัวยความดีอย่างในอดีตแล้ว เชื่อว่าความรุนแรงจะลดลงและเลือนหายไปจากพื้นที่ บรรยากาศแห่งความสงบ ความสันติสุข จะกลับคืนสู่ชายแดนใต้ ดินแดนอันเป็นที่รักและหวงแหนของทุกคนอีกครั้ง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น