วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559

กอ.รมน.ภาค ๔ ส่วนหน้า จัดนิทรรศการแสดงผลงานรอบ ๖ เดือน 

ที่มา  หนังสือพิมพ์ข่าวสด และมติชน วันที่ ๒๘ และ ๒๙ เม.ย.๕๙
โดย   ศปชส.กอ.รมน.ภาค ๔ สน.

อาจกล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกที่การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนำโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า ซึ่งมีศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้ และหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินกองทัพเรือ ร่วมแถลงผลการปฏิบัติงานในรูปแบบการจัดนิทรรศการ โดยรวบรวมผลการปฏิบัติงานที่ดำเนินในรอบ ๖ เดือน มาให้สื่อมวลเข้ารับชมและฟังการแถงผล ณ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๙ โดยมีสื่อมวลชนกว่าครึ่งร้อยร่วมกิจกรรม   
นิทรรศการและการแถลงผลการปฏิบัติงานครั้งนี้ พลโทวิวรรธน์ ปฐมภาคย์ ได้สั่งการให้นำผลการปฏิบัติที่สำคัญๆ ที่ขับเคลื่อนตามตามยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งแบ่งออกเป็น ๗ กลุ่มงาน กลุ่มงานแรกคือ การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ผลการปฏิบัติงานในห้วงที่ผ่านมาได้มีการบูรณาการระหว่างเจ้าหน้าที่ ๓ ฝ่ายอย่างเป็นเอกภาพ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีและนิติวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมาย และที่สำคัญคือความร่วมมือจากภาคประชาชนในการแจ้งเบาะแส ทำให้การติดตามผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในห้วงที่ผ่านมาสามารถตรวจยึดสิ่งอุปกรณ์และยุทโธปกรณ์ในการก่อเหตุได้จำนวนมาก ตรวจพบฐานปฏิบัติการหลายแห่ง ตลอดจนสามารถทำลายความพยายามในการลอบวางระเบิดหลายสิบครั้ง สามารถควบคุมตัวบุคคลเป้าหมาย ๑๒๖ ราย มีทั้งผู้ที่ติดหมาย ป.วิอาญา หมาย พรก.ฉุกเฉิน และผู้ต้องสงสัย และที่สำคัญซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชน คือ สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยที่บุกโรงพยาบาลเจาะไอร้องเมื่อต้นเดือนมีนาคม พร้อมของกลางพยานหลักฐาน คือจักรยานยนต์ที่คนร้ายใช้ก่อเหตุซึ่งเป็นคันเดียวกันกับที่กล้องวงจรปิดบันทึกภาพได้ นอกจากนี้ยังได้จัดชุดปฏิบัติการเข้าไปพิสูจน์ทราบบนเทือกเขาตะเว อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส สถานที่เตรียมการก่อเหตุ สามารถยึดค่ายพักพร้อมของกลาง เช่น เสื้อผ้าชุดทหาร และอุปกรณ์ประกอบระเบิดอีกหลายรายการ
สำหรับเหตุการณ์คนร้ายปล้นรถยนต์ของประชาชนนำไปประกอบวัตถุระเบิดและให้เจ้าของรถนำไปจอดเพื่อก่อเหตุบริเวณเทศบาลนครยะลาเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๙ ขณะนี้สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ๔ ราย โดย ๒ ใน ๔ มีสารพันธุกรรม (DNA) ตรงกันบนวัตถุพยานของการก่อเหตุ และเป็นผู้ที่มีรายชื่อในบัญชีผู้ต้องสงสัยก่อเหตุในห้วงที่ผ่านมา ส่วนเหตุการณ์ระเบิดที่สถานีรถไฟจะนะ จังหวัดสงขลาเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๙ สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยพร้อมหลักฐานที่เป็นเครื่องแต่งกายที่ปรากฏในกล้องวงจรปิด อีกทั้งมีประวัติการก่อเหตุซึ่งมีหมายจับหมายคดี เหล่านี้คือประสิทธิภาพในด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในห้วงที่ผ่านมา อันเกิดจากระบบการจัดการและบูรณาการอย่างเป็นเอกภาพ สามารถสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น
ส่วนการแก้ไขปัญหาด้านผู้มีอิทธิพล ของเถื่อน บ่อนการพนัน และยาเสพติด  สามารถติดตามจับกุมตรวจยึดของกลางและสิ่งผิดกฎหมายจากเครือข่ายยาเสพติด น้ำมันเถื่อน ป่าไม้ สินค้าหลบหนีภาษี บ่อนการพนัน และเครือข่ายค้ามนุษย์ในพื้นที่ ๑๐๑ ครั้ง สามารถจับกุมผู้ต้องหา/เชิญตัวผู้ต้องสงสัย ๕๑๔ คน ตรวจยึดของกลางยาเสพติด ไม้แปรรูป น้ำมันหลบเลี่ยงภาษี  รวมทั้งเงินสดจำนวนมาก ส่งผลให้สามารถตัดการสนับสนุนการก่อเหตุร้ายแรงในพื้นที่ได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้ดำเนิน โครงการญาลันนันบารู ปัจจุบันมีสมาชิกรวม ๖๗,๒๘๘ คน และมีสมาชิกผ่านการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด ณ ปอเนาะญาลันนันบารูบ้านเกาะแลหนัง ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา แล้ว ๒๘๘ คน
ด้านการพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่และคุณภาพชีวิตประชาชน โดยการขับเคลื่อนผ่านโครงการประชารัฐร่วมใจ สร้างอำเภอสันติสุข โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ซึ่งกำลังขณะนี้กำลังดำเนินการในระยะที่ ๒ คือการสำรวจและรวมรวมความต้องและปัญหาความเดือดร้อน เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนงานโครงการและลงสู่ประชาชนในระยะที่ ๓ ต่อไป รวมทั้งการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติ    บูโด-สุไหงปาดี ซึ่งเป็นปัญหามานานนับ ๑๐ ปี ขณะนี้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคได้ออกเอกสารสิทธิที่ดินทำกินไปแล้วจำนวนหนึ่ง ส่วนการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล จังหวัดปัตตานี ได้จัดตั้ง กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมการเลี้ยงไก่เนื้อและสร้างโรงงานแปรรูปไก่ และที่สำคัญได้จัดตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราต้นแบบในพื้นที่ อำเภอยะหา และ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา สามารถรับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกร ในราคาสูงกว่าท้องตลาด มีขีดความสามารถรับซื้อได้วัน ๑๐ ตัน ซึ่งส่วนหนึ่งนำไปผสมกับยางมะตอยในโครงสร้างถนนยางพารา ๓๗ เส้นทาง  
ด้านการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม ได้ส่งเสริมศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาให้กับเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยโครงการ ติวข้น...ค้นฝันให้กับนักเรียนมัธยมปลายทำให้สามรการสอบเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาในปี ๒๕๕๙ โดยการสอบตรงจำนวน ๑,๔๖๖ คน นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนตั้งห้องเรียนพิเศษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ( Scince And Mathematics Program) ให้กับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ๑๘ โรงเรียน เพื่อเพิ่มทักษะทางการศึกษา ให้มุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์มากขึ้น หรับการสนับสนุนด้านศาสนาได้สนับสนุนให้ประชาชนมีโอกาส ประกอบศาสนกิจตามหลักศรัทธา ด้วยการสนับสนุนงบประมาณให้พี่น้องชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ และนับถือศาสนาอิสลามเดินทางแสวงบุญที่ประเทศอินเดียและประเทศซาอุดิอาระเบีย ๗๖๐ คน
          ด้านการอำนวยความยุติธรรม ดำเนินการให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งด้วยการชดใช้ค่าเสียหายด้วยเยียวยาด้านจิตใจ ด้วยการสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนการบังคับใช้กฎหมายได้นำหลักนิติวิทยาศาสตร์และหลักสิทธิมนุษยชนมาสนับสนุนการปฏิบัติงาน รวมทั้งการมีส่วนร่วมจากผู้นำศาสนาในคลี่คลายสถานการณ์ ตามแนวทางการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกื้อกูล และหนุนเสริม กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมาได้เปิดโอกาสให้กลุ่มองค์กรต่างๆ รวมทั้งผู้เห็นต่าง ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา แสดงความคิดเห็น ผ่านเวทีสาธารณะ รวมทั้งขับเคลื่อนโครงการพาคนกลับบ้าน ดำเนินชีวิตอย่างปกติ ปัจจุบันมีผู้เข้ารายงานตัวทั้งสิ้น ๓,๘๓๗ คน
          สำหรับการการดำเนินในห้วงต่อไป กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า ยังคงดำรงความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาเชิงสันติวิธี ด้วยการควบคุมพื้นที่ให้ปลอดภัย ภายใต้การบูรณาการกำลังร่วม ๓ ฝ่าย และกำลังภาคประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และการขับเคลื่อนโครงการประชารัฐร่วมใจ สร้างอำเภอสันติสุขให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เพื่อยุติสถานการณ์ความรุนแรงได้อย่างแท้จริง เพื่อส่งผ่านการแก้ไขปัญหาสู่ ระยะที่ ๓ คือการเสริมสร้างสันติสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

 

 

วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2559

ประชาสัมคมกับการแก้ไขปัญหา จชต.
 
ที่มา  หนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ ๒๒ เม.ย.๕๙ 
โดย   ศปชส.กอ.รมน.ภาค ๔ สน.            
               ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ภาคประชาสังคม” เป็นองค์กรที่ถูกกล่าวถึงและมีบทบาทมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สร้างความสูญเสีย ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างกว้างขวาง จนเกิดการรวมตัวของคนหลายกลุ่ม ก่อตั้งเป็นองค์กรต่างๆ ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนเพื่อรักษาและเรียกร้องสิทธิที่พึงมีพึงได้ รวมทั้งการเป็นตัวแทนในการประสานขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ และขณะเดียวกันก็มีบางองค์กรที่ก่อตั้งเพื่อทำหน้าที่สะท้อนปัญหาและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาไปยังรัฐบาล นับเป็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ปัจจุบันองค์กรภาคประชาสังคม ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามนโยบายของรัฐบาล  
               ประชาสังคม (Civil Society) เกิดขึ้นและมีอยู่ในทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งนักวิชาการได้ศึกษาและให้ความหมาย  สรุปโดยรวมว่าหมายถึง กลุ่ม เครือข่าย สมาคม มูลนิธิ หรือสถาบัน และอื่นๆ ที่มีกิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างรัฐกับประชาชนอย่างเป็นอิสระหากแต่มีส่วนที่เกี่ยวข้องโยงใยในลักษณะทั้งความขัดแย้งและเกื้อกูลต่อกัน สำหรับในประเทศไทยรวมทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีองค์กรภาคประชาสังคมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ความไม่สงบในปี ๒๕๔๗  ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ มีทั้งองค์กรที่ภาครัฐให้การสนับสนุนการก่อตั้ง อย่างเช่น องค์กรภาคประชาชนเพื่อสันติและเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของอาสาสมัครต่างๆ กลุ่มอาชีพ เยาวชน ผู้นำศาสนา เพื่อทำกิจกรรมช่วยเหลือประชาชน สนับสนุนส่งเสริมอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ก่อตั้งด้วยตนเองโดยความสมัครใจเพื่อทำกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเดียวกัน เช่น เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ รวมกลุ่มทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้านการเยียวยา และรวมพลังรณรงค์เรียกร้องไปยังคู่ขัดแย้งระหว่างผู้เห็นต่างกับภาครัฐ ให้ยุติการใช้ความรุนแรงหันหน้าเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี
                องค์กรภาคประชาสังคมเกิดขึ้นและเคลื่อนไหวใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี ๒๕๑๖ โดยปัญญาชนนักศึกษาในพื้นที่ ที่เคยไปศึกษาอยู่ในส่วนกลางรวมกลุ่มในนาม “กลุ่มพิทักษ์ประชาชน” ร่วมชุมนุมประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีเหตุฆาตกรรมที่สะพานกอตอ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ ต่อมาในปี ๒๕๕๑ ได้พัฒนาเป็นสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ สนน.จชต. ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นชื่อ สมาพันธ์นักเรียน นิสิตนักศึกษา และเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERMAS) เมื่อปี 2556 พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นขององค์กรอื่นๆ อีกหลายองค์กรหลังปี ๒๕๔๗ ซึ่งองค์กร (PERMAS) ถือเป็นองค์กรที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ      ดำเนินกิจกรรมอย่างมีพลัง และที่ปรากฏบ่อยครั้ง มักจะเป็นการชุมนุมประท้วงคัดค้าน การให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษ พร้อมทั้งออกแถลงการณ์กล่าวประณามการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ทหาร รวมทั้งการเรียกร้องความเป็นธรรม ต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนร่วมกับองค์กรอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันสามารถมองเห็นการเคลื่อนไหวดังกล่าวได้จากสื่อสังคมออนไลน์ และเว็บไซต์ต่างๆ ส่วนการเคลื่อนไหวที่ล่อแหลมที่สุดคือการจัดกิจกรรมเสวนาบนเวที "บีจารอปาตานี" (Bicara Patani) คือการ ปลุกสำนึกความเป็นเชื้อชาติมลายู และชี้ทางออกของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติของความเป็นเอกราชผ่านหลักการ “สิทธิกำหนดใจตนเอง” หรือ right to self determination ซึ่งได้ดำเนินการหลายครั้งในระหว่างปี ๒๕๕๖ – ๒๕๕๗   
                 นอกจากกลุ่ม PERMAS แล้ว ยังมีองค์กรอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นเครือข่าย ดำเนินกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งล่าสุดได้จัดกิจกรรมกินข้าวยำเพื่อหารายได้สมทบทุนช่วยเหลือครอบครัวปอเนาะญิฮาดวิทยา บ้านท่าด่าน ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2559 ที่ถูกศาลพิพากษาให้ยึดที่ดินเป็นของรัฐฐานความผิดสนับสนุนการกระทำเกี่ยวกับการก่อการร้าย แต่กลับถูกบิดเบือนข้อมูลข่าวสารว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม และผิดหลักศาสนาในประเด็นที่ดิน “วากัฟ”หรือที่สาธารณะ อีกทั้งสร้างกระแสความเห็นใจต่อครอบครัวและไม่เห็นด้วยกับภาครัฐในเรื่องดังกล่าว  
               นอกจากองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ตามที่กล่าวแล้ว ยังมีองค์กรจากส่วนกลาง เข้ามามีบทบาทและสนับสนุนการเคลื่อนไหว ตลอดจนให้ความร่วมมือในลักษณะเครือข่าย อย่างเช่นกรณีเหตุการณ์คนร้ายบุกยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ใช้เป็นฐานยิงโจมตีฐานทหารพรานกองร้อยที่ ๔๘๑๖ เมื่อวันที่ ๑๓  มีนาคม ๒๕๕๙ ซึ่งได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมประณามการกระทำของกลุ่มคนร้าย พร้อมเรียกร้องกองกำลังทุกฝ่ายให้ปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรม หลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งให้ทบทวนยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ในการปฏิบัติการทางทหารที่คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน และให้เร่งรัดติดตามผู้ก่อเหตุมาลงโทษตามกฎหมายให้ได้  
             เหล่านี้คือบทบาทของภาคประชาสังคมที่แสดงออกอย่างสันติวิธี ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน   ภาค ๔ ส่วนหน้า ให้ความสำคัญและเปิดพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด รวมทั้งรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่ได้แต่งตั้งกลไกการขับเคลื่อนระดับต่างๆ หลายระดับ ซึ่งองค์กรภาคประชาสังคมจัดอยู่ในระดับพื้นที่ หรือ TRACK ๓ โดยมอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า ทำหน้าที่ประสานงานทำความเข้าใจและร่วมหาแนวทางความร่วมมือที่จะสร้างพื้นที่ให้เอื้ออำนวยต่อการคลี่คลายความขัดแย้งโดยสันติวิธี เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพูดคุยสันติสุขในระดับนโยบายต่อไป