วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2559

ประชาสัมคมกับการแก้ไขปัญหา จชต.
 
ที่มา  หนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ ๒๒ เม.ย.๕๙ 
โดย   ศปชส.กอ.รมน.ภาค ๔ สน.            
               ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ภาคประชาสังคม” เป็นองค์กรที่ถูกกล่าวถึงและมีบทบาทมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สร้างความสูญเสีย ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างกว้างขวาง จนเกิดการรวมตัวของคนหลายกลุ่ม ก่อตั้งเป็นองค์กรต่างๆ ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนเพื่อรักษาและเรียกร้องสิทธิที่พึงมีพึงได้ รวมทั้งการเป็นตัวแทนในการประสานขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ และขณะเดียวกันก็มีบางองค์กรที่ก่อตั้งเพื่อทำหน้าที่สะท้อนปัญหาและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาไปยังรัฐบาล นับเป็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ปัจจุบันองค์กรภาคประชาสังคม ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามนโยบายของรัฐบาล  
               ประชาสังคม (Civil Society) เกิดขึ้นและมีอยู่ในทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งนักวิชาการได้ศึกษาและให้ความหมาย  สรุปโดยรวมว่าหมายถึง กลุ่ม เครือข่าย สมาคม มูลนิธิ หรือสถาบัน และอื่นๆ ที่มีกิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างรัฐกับประชาชนอย่างเป็นอิสระหากแต่มีส่วนที่เกี่ยวข้องโยงใยในลักษณะทั้งความขัดแย้งและเกื้อกูลต่อกัน สำหรับในประเทศไทยรวมทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีองค์กรภาคประชาสังคมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ความไม่สงบในปี ๒๕๔๗  ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ มีทั้งองค์กรที่ภาครัฐให้การสนับสนุนการก่อตั้ง อย่างเช่น องค์กรภาคประชาชนเพื่อสันติและเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของอาสาสมัครต่างๆ กลุ่มอาชีพ เยาวชน ผู้นำศาสนา เพื่อทำกิจกรรมช่วยเหลือประชาชน สนับสนุนส่งเสริมอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ก่อตั้งด้วยตนเองโดยความสมัครใจเพื่อทำกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเดียวกัน เช่น เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ รวมกลุ่มทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้านการเยียวยา และรวมพลังรณรงค์เรียกร้องไปยังคู่ขัดแย้งระหว่างผู้เห็นต่างกับภาครัฐ ให้ยุติการใช้ความรุนแรงหันหน้าเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี
                องค์กรภาคประชาสังคมเกิดขึ้นและเคลื่อนไหวใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี ๒๕๑๖ โดยปัญญาชนนักศึกษาในพื้นที่ ที่เคยไปศึกษาอยู่ในส่วนกลางรวมกลุ่มในนาม “กลุ่มพิทักษ์ประชาชน” ร่วมชุมนุมประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีเหตุฆาตกรรมที่สะพานกอตอ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ ต่อมาในปี ๒๕๕๑ ได้พัฒนาเป็นสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ สนน.จชต. ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นชื่อ สมาพันธ์นักเรียน นิสิตนักศึกษา และเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERMAS) เมื่อปี 2556 พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นขององค์กรอื่นๆ อีกหลายองค์กรหลังปี ๒๕๔๗ ซึ่งองค์กร (PERMAS) ถือเป็นองค์กรที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ      ดำเนินกิจกรรมอย่างมีพลัง และที่ปรากฏบ่อยครั้ง มักจะเป็นการชุมนุมประท้วงคัดค้าน การให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษ พร้อมทั้งออกแถลงการณ์กล่าวประณามการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ทหาร รวมทั้งการเรียกร้องความเป็นธรรม ต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนร่วมกับองค์กรอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันสามารถมองเห็นการเคลื่อนไหวดังกล่าวได้จากสื่อสังคมออนไลน์ และเว็บไซต์ต่างๆ ส่วนการเคลื่อนไหวที่ล่อแหลมที่สุดคือการจัดกิจกรรมเสวนาบนเวที "บีจารอปาตานี" (Bicara Patani) คือการ ปลุกสำนึกความเป็นเชื้อชาติมลายู และชี้ทางออกของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติของความเป็นเอกราชผ่านหลักการ “สิทธิกำหนดใจตนเอง” หรือ right to self determination ซึ่งได้ดำเนินการหลายครั้งในระหว่างปี ๒๕๕๖ – ๒๕๕๗   
                 นอกจากกลุ่ม PERMAS แล้ว ยังมีองค์กรอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นเครือข่าย ดำเนินกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งล่าสุดได้จัดกิจกรรมกินข้าวยำเพื่อหารายได้สมทบทุนช่วยเหลือครอบครัวปอเนาะญิฮาดวิทยา บ้านท่าด่าน ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2559 ที่ถูกศาลพิพากษาให้ยึดที่ดินเป็นของรัฐฐานความผิดสนับสนุนการกระทำเกี่ยวกับการก่อการร้าย แต่กลับถูกบิดเบือนข้อมูลข่าวสารว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม และผิดหลักศาสนาในประเด็นที่ดิน “วากัฟ”หรือที่สาธารณะ อีกทั้งสร้างกระแสความเห็นใจต่อครอบครัวและไม่เห็นด้วยกับภาครัฐในเรื่องดังกล่าว  
               นอกจากองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ตามที่กล่าวแล้ว ยังมีองค์กรจากส่วนกลาง เข้ามามีบทบาทและสนับสนุนการเคลื่อนไหว ตลอดจนให้ความร่วมมือในลักษณะเครือข่าย อย่างเช่นกรณีเหตุการณ์คนร้ายบุกยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ใช้เป็นฐานยิงโจมตีฐานทหารพรานกองร้อยที่ ๔๘๑๖ เมื่อวันที่ ๑๓  มีนาคม ๒๕๕๙ ซึ่งได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมประณามการกระทำของกลุ่มคนร้าย พร้อมเรียกร้องกองกำลังทุกฝ่ายให้ปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรม หลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งให้ทบทวนยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ในการปฏิบัติการทางทหารที่คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน และให้เร่งรัดติดตามผู้ก่อเหตุมาลงโทษตามกฎหมายให้ได้  
             เหล่านี้คือบทบาทของภาคประชาสังคมที่แสดงออกอย่างสันติวิธี ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน   ภาค ๔ ส่วนหน้า ให้ความสำคัญและเปิดพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด รวมทั้งรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่ได้แต่งตั้งกลไกการขับเคลื่อนระดับต่างๆ หลายระดับ ซึ่งองค์กรภาคประชาสังคมจัดอยู่ในระดับพื้นที่ หรือ TRACK ๓ โดยมอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า ทำหน้าที่ประสานงานทำความเข้าใจและร่วมหาแนวทางความร่วมมือที่จะสร้างพื้นที่ให้เอื้ออำนวยต่อการคลี่คลายความขัดแย้งโดยสันติวิธี เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพูดคุยสันติสุขในระดับนโยบายต่อไป  

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น