วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ฮาบีบ นักการศาสนากับการแก้ไขปัญหา จชต.

ที่มา นสพ.มติชน ฉบับ 27 พ.ค.59
โดย ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค 4. สน.
 
          นับเป็นครั้งที่ ๓ ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายภาค ๔ ส่วนหน้า ผู้นำศาสนา ประชาชน และนักศึกษาในจังหวัดชายภาคใต้ ได้มีโอกาสต้อนรับการมาเยือนของคณะฮาบีบ อาลี อาบอบัคร์ ชีค นักการศาสนาชาวเยเมน ผู้สืบเชื้อสายจากศาสดา นบี มูฮัมหมัด (ซ.ล.) ในโอกาสมาเยือนประเทศไทย เพื่อพบปะแนะนำความรู้ด้านศาสนา สร้างความสัมพันธ์อันดีกับ อุลามาอฺ หัวหน้าส่วนราชการ รวมทั้งปาฐกถาธรรมบรรยายศาสนาให้กับประชาชนและนักศึกษา นับเป็นโอกาสอันดียิ่งต่อการสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้ในปัจจุบัน
          การเดินทางเยือนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งแรกของนักการศาสนาอิสลาม มีขึ้นระหว่างวันที่ 25- 27 พฤศจิกายน 2557 โดย ฮาบีบอุมัร มูฮัมมัด ซาลิม บินฮาฟิซ ผู้ก่อตั้งสถาบันมุสตาฟาร์ ซึ่งสถาบันสอนศาสนาที่มีชื่อเสียงและยอมรับในโลกมุสลิม และเป็นผู้ที่ได้รับความศรัทธาจากมุสลิมทั่วโลก ได้มาบรรยายธรรมให้ความกระจ่างในหลักศาสนาอิสลามอันบริสุทธิ์  ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า ได้นำเนื้อหาการบรรยายบางตอนที่มีประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับก่อการร้าย ที่ผิดต่อหลักศาสนาไปเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ อาทิ คำกล่าวของท่านฮาบีบในประเด็นการฆ่าผู้อื่น แม้แต่คนต่างศาสนาก็ไม่สามารถฆ่าได้ ซึ่งพระเจ้าจะไม่ทรงอภัยอย่างเด็ดขาด หากแต่ พร้อมที่จะอภัยให้กับผู้ที่หลงผิดและกลับตัว ซึ่งสอดคล้องนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามแนวทางสันติวิธีที่ใช้ในปัจจุบัน
          ส่วนการเยือนในครั้งที่ ๒  เป็นการเดินทางมาเยือนของ ฮาบีบ มูฮัมหมัด บินอับดุลเลาะห์ และฮาบีบ ฮูเซ็น บินอับดุลกาเดร์ ที่ได้รับมอบหมายจากฮาบีบอูมัร มูฮัมมัดซาลิม บินฮาฟิช ระหว่างวันที่ ๓ – ๖ พฤศจิกายน 2558 เพื่อพบปะกับอุลามาอฺในพื้นที่ และบรรยายศาสนาให้กับประชาชนในสถานที่ต่างๆ โดยมีเนื้อหาที่สำคัญ คือเรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ตามแบบอย่างการปฏิบัติของศาสดา ที่ให้เกียรติและเคารพต่อผู้ที่มีความแตกต่าง อีกทั้งเน้นย้ำให้มุสลิมรักษาวัฒนธรรมกริยามารยาท อดทนอดกลั้น รักสันติ รู้จักกตัญญูรู้คุณ และมีความเมตตาให้กับผู้คนทุกศาสนา นอกจากนี้ ยังได้กล่าวชื่นชมไปยังรัฐบาลไทย ว่าแม้ไม่ใช่รัฐบาลมุสลิม แต่กลับส่งเสริมกิจกรรมด้านศาสนา และเปิดโอกาสให้ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเต็มที่ ส่วนการแก้ไขปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังได้แนะนำให้พี่น้องมุสลิมร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ในการแก้ไขปัญหา เพราะเจ้าหน้าที่เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานตามกฎหมายและมีความเป็นธรรม
          ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒ - ๖ พฤษภาคม ที่ผ่านมา เป็นการเดินทางลงพื้นที่เยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของ ฮาบีบ อาลี อาบอบัคร์ ชีค  ซึ่งนักการศาสนาท่านนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการพบปะกับนักศึกษา โดยได้เดินทางไปยังสถาบันการศึกษาปอเนาะต่างๆ ในพื้นที่ พร้อมเน้นย้ำให้ความรู้เกี่ยวกับการศึกษาคัมภีร์กุรอาน โดยเฉพาะในด้านการแปลความหมาย ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญคือเพื่อเป็นการป้องกันความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากการบิดเบือนโดยผู้ไม่หวังดีเพื่อสร้างสถานการณ์อย่างที่แล้วมา  

          ย้อนกลับไปในอดีต เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ที่ มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี ได้มีการค้นพบเอกสารชื่อ “เบอร์ญิฮาดดิปัตตานี” ซึ่งเอกสารดังกล่าวได้มีการนำคำว่า “ญิฮาด” มาแปลความหมายในเชิงบิดเบือน ว่าเป็นการต่อสู้กับคนต่างศาสนา และได้ขยายความอีกว่า แม้คนศาสนาเดียวกันหรือญาติพี่น้อง ถ้าหันเหออกจากอุดมการณ์ก็สามารถที่จะฆ่าได้ ทำให้คนส่วนหนึ่งหลงเชื่อและถูกนำเข้าสู่กระบวนการทำพิธี “ซุมเปาะห์” และชักนำให้เข้าร่วมปฏิบัติการก่อเหตุร้าย จนกระทั่งสถานการณ์ลุกลามขยายวงกว้าง มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก จากนั้นไม่นาน สำนักจุฬาราชมนตรี ได้นำประเด็นหลักศาสนาที่ถูกบิดเบือนของเอกสารดังกล่าว มาแก้ไขความหมายและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นผลให้ผู้ร่วมก่อเหตุรุนแรงหลายรายมีความเข้าใจและถอนตัวออกจากกลุ่มขบวนการมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันการใช้หลักศาสนามาบิดเบือน และนำมาเป็นเงื่อนไขลดน้อยลง

        เรื่องศาสนาเป็นอีกมิติหนึ่งของปัญหา ที่ทำให้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลุกลามขยายวงกว้างเนื่องจากการบิดเบือนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ  และเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการแก้ไขโดยอาศัยข้อเท็จจริงมาหักล้าง ซึ่งต้องอาศัยบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือและศรัทธา ซึ่งการเดินทางมาเยือนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของนักการศาสนาที่มีชื่อเสียง อีกทั้งมีเชื้อสายสืบทอดไปถึงท่านศาสดาในหลายครั้ง ทำให้สามารถนำคำแนะนำและการบรรยายธรรมของ ฮาบีบ เหล่านี้ไปแก้ไขปัญหาการบิดเบือนศาสนาได้อย่างเป็นรูปธรรม   

            การเดินทางของคณะฮาบีบจากประเทศเยเมน ทั้ง ๓ ครั้ง ที่ผ่านมา นอกจากนำความกระจ่างในหลักศาสนาอิสลามให้กับพี่น้องมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังทำให้คณะผู้เดินทางได้รับทราบนโยบายของรัฐบาลไทย ที่มีต่อพี่น้องชาวมุสลิม ที่ได้ดูแลสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาและการปฏิบัติศาสนกิจ ตลอดจนการส่งเสริมกิจกรรรมศาสนาในทุกด้าน ยากที่จะหาประเทศใดมาเทียบได้ และทุกครั้งที่มาเยือน ทุกคณะได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ พร้อมรับฟังการบรรยายสรุป แนวทางและนโยบายในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของภาครัฐ ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้กับทุกคณะที่มาเยือน อีกทั้งได้กล่าวชื่นชมในอัธยาศัยไมตรีในการต้อนรับ และรับที่จะนำความประทับใจเหล่านี้บอกเล่าไปยังประเทศอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยต่อมุสลิมโลก และสายตานานาชาติต่อไป  




วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

สานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษา จชต.

 
ที่มา นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ ๒๐ พ.ค.๕๙ 
โดย ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค ๔ สน.

          โครงการ“สานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้”เป็นโครงการส่งเสริมการศึกษาให้กับนักเรียนในพื้นที่ ที่มีความสนใจและความสามารถด้านกีฬา เข้าสู่สถานศึกษาในระดับวิทยาลัย โดยกระทรวงศึกษาธิการจัดทำหลักสูตรและจัดสถานศึกษาพร้อมมอบทุนให้กับนักเรียนในโครงการ ซึ่งนอกจากมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านกีฬาแล้ว ยังมุ่งหวังผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาให้ผู้ร่วมโครงการสามารถก้าวไปสู่การมีอาชีพเกี่ยวกับกีฬาตามที่ใฝ่ฝัน
          โครงการนี้เกิดขึ้นโดยความร่วมมือของ ๓ สำนักงานการศึกษาคือ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดทำหลักสูตรด้านวิชาการและด้านกีฬาสำหรับโรงเรียนในโครงการ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) จัดสรรสถานศึกษาในสังกัดในระดับอุดมศึกษา และสำนักงานคณะกรรรมการการอาชีวะศึกษา (สอศ.) จัดสรรสถานศึกษาในสังกัดตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง โดยแต่ละสำนักมอบทุนการศึกษาจนจบหลักสูตร 
          การดำเนินโครงการแบ่งออกเป็น ๓ ระยะได้แก่ ระยะที่ ๑ จัดการแข่งขันกีฬาช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน โดยกระทรวงศึกษาธิการมอบหมายให้ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) ดำเนินการ โดยจัดการแข่งขันในทุกจังหวัด จากสถานศึกษาทุกสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ ทำการแข่งขันกีฬา ชนิดต่างๆ เช่น ฟุตบอล ฟุตซอลเซปักตะกร้อ วอลเลย์บอล และกรีฑา เพื่อให้นักเรียนใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ เกิด ความสามัคคี และแสดงความสามารถด้านการกีฬา อีกทั้งเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการที่กำลังจะเข้าสู่ระยะต่อไปอีกทางหนึ่ง 
          ระยะที่ ๒ คือระยะกลาง เป็นการนำหลักสูตรด้านวิชาการและด้านกีฬาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดทำขึ้น เข้าสู่โรงเรียนในโครงการ ได้แก่โปรแกรม วิทย์-กีฬา/ศิลป์-กีฬา เน้นการสื่อสารภาษาอังกฤษ สำหรับด้านกีฬาได้เปิดสอน วิชา ฟุตบอล ฟุตซอล วอลเล่ย์บอล บาสเกตบอล ฮอกกี้ เทควันโด  มวยไทย ตะกร้อ ปัจจักสีลัต และกรีฑา โดยในปีการศึกษา ๒๕๕๙ มีโรงเรียนจาก ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมโครงการ จำนวน ๖ โรงเรียน ได้แก่โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ยะลา มีนักเรียนในโครงการ จำนวน 80 คน โรงเรียนรือเสาะชินูปถัมภ์ จังหวัดนราธิวาส จำนวน ๘๐ คน โรงเรียนมัธยมสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส จำนวน ๗๐ คน โรงเรียนโพธิ์คีรีราษฎร์ศึกษา จังหวัดปัตตานี จำนวน ๗๒ คน โรงเรียนนาทวีวิทยาคม จังหวัดสงขลา จำนวน ๘๖ คน และโรงเรียนละงูพิทยาคม จังหวัดสตูล จำนวน ๔๓ คน รวมทั้งสิ้น  ๔๓๑ คน 
          ระยะที่ 3 ระยะยาว ดำรงความต่อเนื่องของโครงการ คือการเข้าศึกษาต่อในระดับต่อไปตามแต่ละสถานศึกษาในโครงการ พร้อมทุนการศึกษาจนจบหลักสูตร
         ขณะนี้โครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินอย่างเป็นทางการ โดยมีการทำพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง ๓ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา และสำนักงานคณะกรรรมการการอาชีวะศึกษา เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๙ โดยมี พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลโทอุกฤษณ์  อากาศวิภาค รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า นายภานุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ และสื่อมวลชนในพื้นที่ร่วมเป็นสักขีพยาน 
        พลเอกดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวโอกาสนี้ว่า นายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้ส่งเสริมการกีฬา และการศึกษาให้กับนักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจัดทำหลักสูตรการศึกษาวิทยาศาตร์-กีฬา ให้กับโรงเรียนในโครงการ และให้ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดมหกรรมกีฬานักเรียนนักศึกษาภาคฤดูร้อน  ซึ่งเริ่มการแข่งขันตั้งแต่วันที่ ๒๕ มีนาคม จนวันที่ ๒๕ เมษายน 2559 ทำการแข่งขัน ๕ ชนิดกีฬา ได้แก่ ฟุตบอล ฟุตซอล วอลเลย์บอล เซปักตะกร้อ และกรีพา มีนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันจำนวนทั้งสิ้น ๑,๙๒๕ คน ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากทำให้นักเรียนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แล้ว ยังได้แสดงออกถึงความสามารถด้านกีฬาที่จะก้าวสู่เส้นทางการกีฬาควบคู่การศึกษาที่ใฝ่ฝัน สร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเองและครอบครัว ผู้ปกครองและประชาชนพึงพอใจในนโยบายรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลถึงมาตรการการรักษาความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการศึกษา อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นส่วนสำคัญของการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามนโยบายของรัฐบาล     
        การเดินทางปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของพลเอกดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะในครั้งนี้ นอกจากเป็นประธานพิธีปิดมหกรรมกีฬานักเรียนนักศึกษาภาคฤดูร้อนแล้ว ยังได้เป็นประธานสักขีพยานการลงนามข้อตกลงความร่วมมือในโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในคราวเดียวกัน กล่าวได้ว่าพิธีปิดมหกรรมกีฬานักเรียนนักศึกษาภาคฤดูร้อนจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปีนี้ เสมือนเป็นการเปิดโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นทางการ   

 
 
 
 

วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2559



 
 
เสืออีสานปั่นตะลุยใต้
 
ที่มา  นสพ.ข่าวสดฉบับวันที่ 29 เม.ย.59
นสพ.มติชนฉบับวันที่ 9 พ.ค.59
โดย  ศปช.กอ.รมน.ภาค 4 สน.
 

            แม้คนส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่น่ากลัวและไม่ปลอดภัยต่อการท่องเที่ยว แต่สำหรับนักปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพทีม “เสือซิงซิง อุบลราชธานี” กลับมุ่งมั่นที่จะเดินทางมาสัมผัสพื้นที่ ที่ได้ชื่อว่าดินแดนแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสวยงามด้วยธรรมชาติ จึงได้จัดโครงการศึกษาวิถีชีวิต วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และธรรมชาติใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยจักรยานโดยนำทีมนักปั่นจำนวน ๒๕ ชีวิต เดินทางโดยรถไฟจากชายแดนอีสานสู่ชายแดนใต้ และเริ่มต้นปั่นตั้งแต่สถานีรถไฟปัตตานีในต้นเดือนเมษายน ไปยังสถานที่สำคัญใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนมุ่งหน้าเข้าสู่ประเทศมาเลเซีย และกลับเข้าประเทศไทยอีกครั้งหลังสงกรานต์ โดยใช้เวลาปั่นนานกว่าครึ่งเดือน  


 
                คุณอุบลวรรณ หอมสิน หนึ่งในทีมนักปั่นเล่าว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้ตัดสินใจร่วมคณะในครั้งนี้ เกิดจากโครงการ“ปั่นรวมใจไทย”จากแม่สาย สู่เบตง เมื่อปีที่แล้ว โดยตนเป็นหนึ่งในจำนวนนักปั่นชุดนั้น หลังจากที่ได้นำเรื่องราวความประทับใจไปบอกเล่าให้เพื่อนนักปั่นด้วยกันฟัง  ทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมและเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้น ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นโครงการ“ปั่นรวมใจ ๒” ที่มีนักปั่นจากทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมกันจัดขึ้น



              สำหรับเส้นทางการปั่น กำหนดจุดเริ่มต้นจากสถานีรถไฟปัตตานี (โคกโพธิ์) ไปยังวัดช้างให้ หรือที่รู้จักในนามวัดหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเจจืด ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนเคารพศรัทธา ตามตำนานเล่าว่าขณะที่หลวงปู่ทวดเดินทางไป   กรุงศรีอยุธยา โดยทางเรือระหว่างทางเกิดการขาดแคลนน้ำจืด หลวงปู่ทวดจึงได้อธิษฐานและเอาเท้าจุ่มลงในทะเลและเมื่อลูกเรือนำน้ำทะเลขึ้นมาดื่ม ปรากฏว่าน้ำดังกล่าวกลายเป็นน้ำจืด นำมาใช้ดื่มกินได้อย่างอัศจรรย์

              นอกจากการเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางศาสนา เช่น วัดช้างให้ มัสยิดกลางปัตตานี และศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวอันเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของจังหวัดปัตตานีแล้ว การเที่ยวชมธรรมชาติ ศึกษาวิถีชีวิตวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ก็เป็นเป้าหมายสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการปั่นในครั้งนี้ โดยได้กำหนดเส้นทางปั่นไปรอบอ่าวปัตตานีแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ ที่เป็นที่ตั้งของชุมชนชาวประมง และมีโบราณสถานหลายแห่ง เช่น  สุสานพญาอินทิรา เจ้าเมืองคนแรกที่นับถือศาสนาอิสลามและทำให้เมืองปัตตานีเปลี่ยนจากศาสนาพุทธ พราหมณ์ เป็นอิสลาม สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่มีตำนานที่ผูกพันกับมัสยิดกรือเซะ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน นอกจากนี้อ่าวปัตตานียังเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยระบบนิเวศน์ป่าชายเลนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำนานาชนิด ที่มีผู้คนพากันมาอาศัยตั้งแต่อดีต เคยเป็นสถานที่สำหรับหลบลมพายุและที่พักของเรือสินค้าในฤดูมรสุมมาก่อน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมกับคนในพื้นที่ รวมทั้งมีการนำอารยธรรมเข้าเผยแพร่ จนกลายเป็นชุมชนเมืองที่มีความรุ่งเรืองทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมมาจนปัจจุบัน
 
 
           จากอ่าวปัตตานี ทีมนักปั่นเดินทางต่อไปยังจังหวัดนราธิวาส ผ่านถนนสาย ๔๒ แวะเข้าเยี่ยมชมมัสยิด 300 ปี ที่บ้าน ตะโละมาเนาะ ตำบลลุโบะสาวอ ห่างจากอำเภอบาเจาะประมาณ ๔ กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งมัสยิดที่สร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง ใช้สลักไม้ยึดหลักแทนตะปู รูปทรงของอาคารเป็นแบบไทยพื้นเมืองประยุกต์เข้ากับศิลปะจีน และมลายู ส่วนที่เด่นที่สุดของอาคารคือเหนือหลังคาจะมีฐานมารองรับจั่วบนหลังคาอยู่ชั้นหนึ่ง ส่วนหออะซานซึ่งมีลักษณะเป็นเก๋งจีน อยู่บนหลังคาส่วนหลัง ฝาเรือนใช้ไม้ทั้งแผ่นเจาะเป็นหน้าต่าง ช่องลมแกะเป็นลวดลายใบไม้ ดอกไม้สลับลายจีน ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานศิลปะหลากหลายวัฒนธรรมอย่างลงตัว  
           ออกจากมัสยิดตะโละมาเนาะ ทีมนักปั่น “เสือซิงซิง อุบลราชธานี” กลับขึ้นมาบนถนนสาย ๔๒ อีกครั้งมุ่งสู่ปลายทางจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีกำหนดการ เยี่ยมชมสถานที่สำคัญๆ ในจังหวัดนราธิวาส ต่ออีกหลายจุดเช่น หาดนราทัศน์ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ วัดชลธาราสิงเห  ศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ ป่าพรุโต๊ะแดง วัดเขากง ศูนย์การศึกษาและพัฒนาพิกุลทอง และที่อื่นๆ ก่อนเดินทางเข้าจังหวัดยะลาใต้สุดสยามเมืองงามชายแดนในลำดับต่อมา     
 
              จังหวัดยะลาแม้ว่าไม่มีพื้นที่ติดต่อกับทะเล แต่จังหวัดยะลามีทะเลสาบน้ำจืดที่ตั้งอยู่เหนือเขื่อนบางลาง ซึ่งมีทิวทัศน์ป่าเขาอันสมบูรณ์ล้อมรอบพร้อมเกาะกลางน้ำที่ธรรมชาติสร้างสรรค์อย่างสวยงาม นอกจากนี้ยังมีทะเลหมอกที่ตั้งอยู่บนเขาสูงกว่า 2,000 ฟุต สามารถชมทะเลหมอกในยามเช้าเกือบตลอดปี อยู่ห่างจากถนนสาย ๔๑๐ เข้าทางหมู่บ้านธารมะลิ ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง บริเวณกิโลเมตรที่ ๓๓ ลึกเข้าไปประมาณ 7 กิโลเมตร ปัจจุบันทะเลหมอกอัยเยอร์เวงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอเบตง จังหวัดยะลาอีกแห่งหนึ่ง
             เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปั่นในระยะครึ่งเดือนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นอกจากได้สัมผัสความหลากหลายทางวัฒนธรรม สถานที่สำคัญทางศาสนาแล้ว ระหว่างเส้นทางนักปั่นยังได้สัมผัสกับภูมิประเทศที่สลับกัน ไปมาระหว่างสวนยางกับทุ่งนาริมเชิงเขา สร้างความแปลกตาเพลินใจไปตลอดเส้นทาง ยิ่งกว่านั้นมีผู้นำทางคอยเล่าเรื่องราวความเป็นมาของสถานที่ต่างๆ เป็นการสร้างสีสันในการปั่นแบบท่องเที่ยวอย่างสมบูรณ์แบบ     
             นักปั่นอาวุโสในทีมรายหนึ่งบอกว่า จากการที่ได้ไปปั่นยังที่ต่างๆหลายแห่งทั่วประเทศ พบว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีธรรมชาติที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์มากกว่าที่อื่น ส่วนเรื่องสถานการณ์ในพื้นที่ ที่คนส่วนใหญ่มองว่าไม่ปกติ เขากลับคิดว่าเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ไม่ว่าที่ไหนๆ ก็มีความขัดแย้งกันเกิดขึ้น และไม่ว่าที่ไหนๆ ก็มีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี สำหรับเขาแล้วการเดินทางเก็บเกี่ยวสิ่งที่ดีๆ ให้กับชีวิตเป็นสิ่งที่เขาเลือกที่จะทำ และพร้อมที่จะเดินทางท่องเที่ยวไปในทุกแห่ง


            แม้ว่า ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นพื้นที่ ที่มีภาพลักษณ์ในด้านสถานการณ์ความรุนแรง ที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ มานานนับสิบปี ก็ไม่ได้ทำให้ทีมนักปั่นชุดนี้หวั่นไหว แต่กลับยังคงมุ่งมั่น ปั่นสองล้อคู่ใจไปเยือนสถานที่ต่างๆ ทั้ง ๓ จังหวัด เพื่อค้นหา สิ่งสวยงามและมนต์เสน่ห์ของเมืองใต้ สัมผัสวิถีชีวิต มิตรไมตรีของผู้คนรายทาง เก็บเกี่ยวเป็นประสบการณ์ที่ดี เพื่อนำไปบอกเล่าให้คนนอกพื้นที่ได้รับรู้ว่า ชายแดนใต้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่กลับมีความสวยงามและน้ำใจของผู้คนที่รออยู่ และพร้อมต้อนรับการมาเยือนของพี่น้องคนไทยทั่วประเทศ  ซึ่งจากการจัดกิจกรรมครั้งนี้  เชื่อว่าพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกคน  อยากขอบคุณทีมนักปั่น “เสือซิงซิง อุบลราชธานี” ทุกคนที่มาเยือน และนำเรื่องราวดีๆที่พบเห็นในทริปนี้ไปบอกต่อ.