วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2559



 
 
เสืออีสานปั่นตะลุยใต้
 
ที่มา  นสพ.ข่าวสดฉบับวันที่ 29 เม.ย.59
นสพ.มติชนฉบับวันที่ 9 พ.ค.59
โดย  ศปช.กอ.รมน.ภาค 4 สน.
 

            แม้คนส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่น่ากลัวและไม่ปลอดภัยต่อการท่องเที่ยว แต่สำหรับนักปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพทีม “เสือซิงซิง อุบลราชธานี” กลับมุ่งมั่นที่จะเดินทางมาสัมผัสพื้นที่ ที่ได้ชื่อว่าดินแดนแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสวยงามด้วยธรรมชาติ จึงได้จัดโครงการศึกษาวิถีชีวิต วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และธรรมชาติใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยจักรยานโดยนำทีมนักปั่นจำนวน ๒๕ ชีวิต เดินทางโดยรถไฟจากชายแดนอีสานสู่ชายแดนใต้ และเริ่มต้นปั่นตั้งแต่สถานีรถไฟปัตตานีในต้นเดือนเมษายน ไปยังสถานที่สำคัญใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนมุ่งหน้าเข้าสู่ประเทศมาเลเซีย และกลับเข้าประเทศไทยอีกครั้งหลังสงกรานต์ โดยใช้เวลาปั่นนานกว่าครึ่งเดือน  


 
                คุณอุบลวรรณ หอมสิน หนึ่งในทีมนักปั่นเล่าว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้ตัดสินใจร่วมคณะในครั้งนี้ เกิดจากโครงการ“ปั่นรวมใจไทย”จากแม่สาย สู่เบตง เมื่อปีที่แล้ว โดยตนเป็นหนึ่งในจำนวนนักปั่นชุดนั้น หลังจากที่ได้นำเรื่องราวความประทับใจไปบอกเล่าให้เพื่อนนักปั่นด้วยกันฟัง  ทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมและเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้น ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นโครงการ“ปั่นรวมใจ ๒” ที่มีนักปั่นจากทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมกันจัดขึ้น



              สำหรับเส้นทางการปั่น กำหนดจุดเริ่มต้นจากสถานีรถไฟปัตตานี (โคกโพธิ์) ไปยังวัดช้างให้ หรือที่รู้จักในนามวัดหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเจจืด ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนเคารพศรัทธา ตามตำนานเล่าว่าขณะที่หลวงปู่ทวดเดินทางไป   กรุงศรีอยุธยา โดยทางเรือระหว่างทางเกิดการขาดแคลนน้ำจืด หลวงปู่ทวดจึงได้อธิษฐานและเอาเท้าจุ่มลงในทะเลและเมื่อลูกเรือนำน้ำทะเลขึ้นมาดื่ม ปรากฏว่าน้ำดังกล่าวกลายเป็นน้ำจืด นำมาใช้ดื่มกินได้อย่างอัศจรรย์

              นอกจากการเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางศาสนา เช่น วัดช้างให้ มัสยิดกลางปัตตานี และศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวอันเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของจังหวัดปัตตานีแล้ว การเที่ยวชมธรรมชาติ ศึกษาวิถีชีวิตวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ก็เป็นเป้าหมายสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการปั่นในครั้งนี้ โดยได้กำหนดเส้นทางปั่นไปรอบอ่าวปัตตานีแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ ที่เป็นที่ตั้งของชุมชนชาวประมง และมีโบราณสถานหลายแห่ง เช่น  สุสานพญาอินทิรา เจ้าเมืองคนแรกที่นับถือศาสนาอิสลามและทำให้เมืองปัตตานีเปลี่ยนจากศาสนาพุทธ พราหมณ์ เป็นอิสลาม สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่มีตำนานที่ผูกพันกับมัสยิดกรือเซะ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน นอกจากนี้อ่าวปัตตานียังเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยระบบนิเวศน์ป่าชายเลนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำนานาชนิด ที่มีผู้คนพากันมาอาศัยตั้งแต่อดีต เคยเป็นสถานที่สำหรับหลบลมพายุและที่พักของเรือสินค้าในฤดูมรสุมมาก่อน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมกับคนในพื้นที่ รวมทั้งมีการนำอารยธรรมเข้าเผยแพร่ จนกลายเป็นชุมชนเมืองที่มีความรุ่งเรืองทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมมาจนปัจจุบัน
 
 
           จากอ่าวปัตตานี ทีมนักปั่นเดินทางต่อไปยังจังหวัดนราธิวาส ผ่านถนนสาย ๔๒ แวะเข้าเยี่ยมชมมัสยิด 300 ปี ที่บ้าน ตะโละมาเนาะ ตำบลลุโบะสาวอ ห่างจากอำเภอบาเจาะประมาณ ๔ กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งมัสยิดที่สร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง ใช้สลักไม้ยึดหลักแทนตะปู รูปทรงของอาคารเป็นแบบไทยพื้นเมืองประยุกต์เข้ากับศิลปะจีน และมลายู ส่วนที่เด่นที่สุดของอาคารคือเหนือหลังคาจะมีฐานมารองรับจั่วบนหลังคาอยู่ชั้นหนึ่ง ส่วนหออะซานซึ่งมีลักษณะเป็นเก๋งจีน อยู่บนหลังคาส่วนหลัง ฝาเรือนใช้ไม้ทั้งแผ่นเจาะเป็นหน้าต่าง ช่องลมแกะเป็นลวดลายใบไม้ ดอกไม้สลับลายจีน ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานศิลปะหลากหลายวัฒนธรรมอย่างลงตัว  
           ออกจากมัสยิดตะโละมาเนาะ ทีมนักปั่น “เสือซิงซิง อุบลราชธานี” กลับขึ้นมาบนถนนสาย ๔๒ อีกครั้งมุ่งสู่ปลายทางจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีกำหนดการ เยี่ยมชมสถานที่สำคัญๆ ในจังหวัดนราธิวาส ต่ออีกหลายจุดเช่น หาดนราทัศน์ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ วัดชลธาราสิงเห  ศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ ป่าพรุโต๊ะแดง วัดเขากง ศูนย์การศึกษาและพัฒนาพิกุลทอง และที่อื่นๆ ก่อนเดินทางเข้าจังหวัดยะลาใต้สุดสยามเมืองงามชายแดนในลำดับต่อมา     
 
              จังหวัดยะลาแม้ว่าไม่มีพื้นที่ติดต่อกับทะเล แต่จังหวัดยะลามีทะเลสาบน้ำจืดที่ตั้งอยู่เหนือเขื่อนบางลาง ซึ่งมีทิวทัศน์ป่าเขาอันสมบูรณ์ล้อมรอบพร้อมเกาะกลางน้ำที่ธรรมชาติสร้างสรรค์อย่างสวยงาม นอกจากนี้ยังมีทะเลหมอกที่ตั้งอยู่บนเขาสูงกว่า 2,000 ฟุต สามารถชมทะเลหมอกในยามเช้าเกือบตลอดปี อยู่ห่างจากถนนสาย ๔๑๐ เข้าทางหมู่บ้านธารมะลิ ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง บริเวณกิโลเมตรที่ ๓๓ ลึกเข้าไปประมาณ 7 กิโลเมตร ปัจจุบันทะเลหมอกอัยเยอร์เวงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอเบตง จังหวัดยะลาอีกแห่งหนึ่ง
             เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปั่นในระยะครึ่งเดือนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นอกจากได้สัมผัสความหลากหลายทางวัฒนธรรม สถานที่สำคัญทางศาสนาแล้ว ระหว่างเส้นทางนักปั่นยังได้สัมผัสกับภูมิประเทศที่สลับกัน ไปมาระหว่างสวนยางกับทุ่งนาริมเชิงเขา สร้างความแปลกตาเพลินใจไปตลอดเส้นทาง ยิ่งกว่านั้นมีผู้นำทางคอยเล่าเรื่องราวความเป็นมาของสถานที่ต่างๆ เป็นการสร้างสีสันในการปั่นแบบท่องเที่ยวอย่างสมบูรณ์แบบ     
             นักปั่นอาวุโสในทีมรายหนึ่งบอกว่า จากการที่ได้ไปปั่นยังที่ต่างๆหลายแห่งทั่วประเทศ พบว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีธรรมชาติที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์มากกว่าที่อื่น ส่วนเรื่องสถานการณ์ในพื้นที่ ที่คนส่วนใหญ่มองว่าไม่ปกติ เขากลับคิดว่าเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ไม่ว่าที่ไหนๆ ก็มีความขัดแย้งกันเกิดขึ้น และไม่ว่าที่ไหนๆ ก็มีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี สำหรับเขาแล้วการเดินทางเก็บเกี่ยวสิ่งที่ดีๆ ให้กับชีวิตเป็นสิ่งที่เขาเลือกที่จะทำ และพร้อมที่จะเดินทางท่องเที่ยวไปในทุกแห่ง


            แม้ว่า ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นพื้นที่ ที่มีภาพลักษณ์ในด้านสถานการณ์ความรุนแรง ที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ มานานนับสิบปี ก็ไม่ได้ทำให้ทีมนักปั่นชุดนี้หวั่นไหว แต่กลับยังคงมุ่งมั่น ปั่นสองล้อคู่ใจไปเยือนสถานที่ต่างๆ ทั้ง ๓ จังหวัด เพื่อค้นหา สิ่งสวยงามและมนต์เสน่ห์ของเมืองใต้ สัมผัสวิถีชีวิต มิตรไมตรีของผู้คนรายทาง เก็บเกี่ยวเป็นประสบการณ์ที่ดี เพื่อนำไปบอกเล่าให้คนนอกพื้นที่ได้รับรู้ว่า ชายแดนใต้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่กลับมีความสวยงามและน้ำใจของผู้คนที่รออยู่ และพร้อมต้อนรับการมาเยือนของพี่น้องคนไทยทั่วประเทศ  ซึ่งจากการจัดกิจกรรมครั้งนี้  เชื่อว่าพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกคน  อยากขอบคุณทีมนักปั่น “เสือซิงซิง อุบลราชธานี” ทุกคนที่มาเยือน และนำเรื่องราวดีๆที่พบเห็นในทริปนี้ไปบอกต่อ.
 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น