วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559

สลามัตฮารีรายอ

ที่มา นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ ๒๙ มิ.ย.๕๙
โดย ศูนย์ประชาสัมพันธ๋ กอ.รมน.ภาค ๔ สน

      “สลามัตฮารีรายอ”เป็นคำอวยพรแสดงความยินดีของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ในโอกาสวันสำคัญทางศาสนา ๒ วัน คือ วันรายออีฎิ้ลฟิตริ วันฉลองการสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน และวันรายออีฎิ้ลอัดฮา เป็นการฉลองวันออกฮัจญ์ของผู้แสวงบุญ ที่นครเมกกะ ในวันดังกล่าวผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม จะไปรวมตัวทำพิธีละหมาดที่มัสยิด ฟังคุตบะห์ และขอพรจากอัลลอฮฺเพื่อเป็นศิริมงคล ตลอดจนการแสดงความยินดีซึ่งกันและกัน   มีการเลี้ยงอาหาร และเดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้อง วันรายอ นอกจากจะเป็นวันสำคัญทางศาสนาแล้วยังเป็นเทศกาลแห่งความสุขด้วย  ในวันดังกล่าวเราจะได้ยินคำอวยพรว่า“สมามัติฮารีรายอ มาอัฟศอเฮร ดันบาเฏน” ซึ่งมีความหมายว่า“ขอให้มีความสุขเนื่องในวันรายอ และขออภัยในความผิดทั้งต่อหน้าและลับหลัง” 
      วันรายออิฎิ้ลฟิตริ ตรงกับวันที่ ๑ เดือนเซาวาล เป็นเดือนที่ ๑๐ ต่อจากเดือนรอมฎอน ปีฮิจเราะห์ศักราช นับทางจันทรคติโดยการสังเกตการปรากฏขึ้นของดวงจันทร์ทางทิศตะวันตกตอนพระอาทิตย์ตกดิน เมื่อเห็นดวงจันทร์ลักษณะเสี้ยวขึ้น ๑ ค่ำ เป็นสัญญาณของการเริ่มต้นเดือนใหม่ ชาวมุสลิมจะยุติการถือศีลอดและเข้าสู่วันอิฎิ้ลฟิตริ ด้วยการสรรเสริญพระเจ้าทั้งที่บ้านและมัสยิดตั้งแต่ตอนกลางคืน และจะรีบทำการบริจาคทานฟิตเราะห์ ให้เสร็จสิ้นก่อนการละหมาดในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น เป็นการปฏิบัติที่ต่อเนื่องจากการถือศีลอด อันเป็นที่มาและความสำคัญของ                 วันรายออิฎิ้ลฟิตริ หรือวันรายอฟิตเราะห์นั่นเอง  

      การปฏิบัติในวันดังกล่าว มุสลิมจะตื่นนอนตั้งแต่เช้าตรู่ ทำความสะอาดตกแต่งบ้านให้สวยงาม ตลอดจนทำความสะอาดร่างกายพร้อมกับอาบน้ำสุนัตกล่าวดุอาร์ขอพรในขณะอาบน้ำ หลังจากนั้นจะแต่งตัวด้วยเครื่องแต่งกายที่ใหม่และสะอาด เดินทางไปยังมัสยิดเพื่อร่วมละหมาด ในระหว่างรอการละหมาดจะมีการกล่าวซิเกร์สรรเสริญอัลลอฮฺ อยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งอิหม่ามเริ่มดำเนินการนำการละหมาด ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ ๘.๓๐ น. ขณะละหมาดทุกคนจะสำรวมจิตใจแน่วแน่มุ่งตรงต่ออัลลอฮฺ เมื่อละหมาดครบ ๒ รอบ และให้สลาม อิหม่ามจะอ่านคุตบะห์  นำคำสอนการปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิต ย้ำเตือนการทำความดีละเว้นความชั่ว ประพฤติปฏิบัติอยู่ในแนวทางของศาสนา ผู้ฟังจะอยู่ในอาการสำรวม สงบนิ่ง และเมื่ออ่านคุตบะห์จบจะขอพรจากอัลลอฮฺ เพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นอันเสร็จพิธี ทุกคนจะลุกขึ้นแสดงความยินดีและขออภัยในความผิดที่มีต่อกัน เกิดบรรยากาศที่อบอวลด้วยความสุข ความอบอุ่น อวยพรและมอบความสุขให้แก่กัน บรรดาลูกๆ จะขออภัยต่อพ่อแม่ แสดงออกด้วยการสวมกอด การจูบมือ การหอมแก้ม ลูกหลานที่อยู่ต่างภูมิลำเนาจะกลับมาเยี่ยมบ้าน เป็นวันแห่งความสุขที่เกิดขึ้นหลังจากมุ่งมั่นทำความดีในเดือน รอมฎอน ตลอดทั้งเดือน  
      สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ แต่ละบ้านจะมีการเตรียมอาหาร ขนมคาวหวาน สำหรับเลี้ยงญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงที่มาเยี่ยมเยือน และใช้สำหรับนำไปเป็นของฝากเมื่อไปเยี่ยมผู้อื่น นอกจากขนมคาวหวานแล้ว ชาวมุสลิมที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ยังนิยมทำ“ตูปะ”(ขนมต้ม) พร้อมกับแกงเนื้อเป็นของคู่กันประจำเทศกาล ไว้ต้อนรับและมอบเป็นของฝากกันและกัน ถือเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติมาจนปัจจุบัน  
       ส่วนวันรายออีฎิ้ลอัดฮา เป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองการประกอบพิธีฮัจญ์ ตรงกับวันที่ ๑๐ เดือนซุลฮิจยะญ์  ตรงกับห้วงที่ผู้แสวงบุญกำลังประกอบพิธี ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอารเบีย มุสลิมที่อื่นๆ ทั่วโลกที่ไม่ได้ร่วมพิธีดังกล่าวจะทำพิธีละหมาดอีฎิ้ลอัดฮาที่มัสยิด เช่นเดียวกับละหมาดอีฎิ้ลฟิตริ มีการอ่านคุตบะห์ สำหรับคุตบะห์วันรายอ อีฎิ้ลอัดฮา จะนำเรื่องการกุรบานครั้งยิ่งใหญ่ในอิสลามซึ่งเกิดขึ้นกับศาสดาอิบราเฮมที่มีความภักดีต่ออัลลอฮฺ  ถึงขนาดยินยอมจะสละชีพบุตรชาย คืออิสมาแอล เพื่ออัลลอฮฺ ให้มุสลิมได้ระลึกถึง และตระหนักถึงความศรัทธาและเสียสละอันยิ่งใหญ่ รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ที่ควรรับรู้ ซึ่งปัจจุบันบางแห่งมีการจัดละหมาดกลางแจ้งเพื่อรองรับผู้ละหมาดจำนวนมาก อีกทั้งเป็นการละหมาดเพื่ออ่านคุตบะห์ในเรื่องเกี่ยวกับความเป็นไปในสังคมที่ส่งผลกระทบต่อสังคมมุสลิมให้ได้รับรู้ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องและเหมาะสม เสร็จสิ้นการละหมาดก็จะรีบทำการกุรบานเชือดสัตว์แจกจ่ายเป็นทานแก่ผู้ยากไร้ ส่วนใหญ่นิยมนำมาประกอบอาหารเลี้ยงคนหมู่บ้านหรือในละแวกเดียวกัน  
        นอกจากวันรายออีฎิ้ลฟิตริ และวันรายออีฎิ้ลอัดฮา ตามหลักศาสนาแล้ว  ในบางพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีการปฏิบัติที่เรียกว่าวันรายออีกครั้ง โดยจะปฏิบัติในวันที่ ๘ เดือนเซาวาล หลังวันรายอฟิตเราะห์ เรียกว่า “รายอแน” หมายถึงรายอ ๖ ซึ่งไม่กำหนดในศาสนาและไม่มีการละหมาด แต่เนื่องจากในห้วง ๖ วันดังกล่าวผู้ที่ขาดการถือศีลอดจะถือศีลอดชดเชย อีกทั้งเป็นการถือศีลอดสุนัต เมื่อครบกำหนดจะถือโอกาสเป็นวันรายออีกครั้ง ด้วยการทำอาหาร รวมทั้งตูปะ ไปทำกิจกรรมที่กุโบร์ (สุสาน) ร่วมพัฒนาทำความสะอาด เลี้ยงอาหารและร่วมดุอาร์ขอพรให้กับผู้ล่วงลับ เป็นการปฏิบัติที่แสดงความกตัญญูรู้คุณต่อบรรพบุรุษ ซึ่งมีที่มาจากความเชื่อเมื่อครั้งอดีตและยังคงปฏิบัติในบางแห่งในปัจจุบัน      
        แม้ว่าวันรายอจะถูกกล่าวว่าเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองในวันออกบวช หรือออกจากพิธีฮัจญ์ แต่ศาสนาอิสลามไม่ได้ส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมกันอย่างสนุกสนานจนลืมตัว หากแต่ให้ปฏิบัติในขอบเขตของศาสนา และแบบอย่างของศาสดา มีความสำรวม ระลึกถึงอัลลอฮฺ ทำความดี มีความเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์โดยไม่แบ่งเชื้อชาติ เพราะอิสลามถือว่าทุกเชื้อชาติล้วนเป็นประชาชาติเดียวกัน   

      

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2559

คุณค่าการถือศีลอดในเดือนรอมฏอน

ที่มา นสพ.มติชน ฉบับวันที่ ๑๗ มิ.ย.๕๙
โดย ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค ๔ สน.

     การถือศีลอดในเดือนรอมฏอน เป็น ๑ ในหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลาม ซึ่งการปฏิบัติที่สำคัญคือ การงดเว้นจากการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ และการเสพสิ่งต่างๆ ในเวลากลางวัน หลีกเลี่ยงการกระทำที่ขัดกับจริยธรรมอันดีงาม มีความอดทนอดกลั้นต่ออารมณ์ความรู้สึกอันไม่พึงประสงค์ มุ่งมั่นทำความดีช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ สำรวมตนสรรเสริญพระเจ้า สำนึกในความเมตตาที่ให้โอกาสได้พบกับเดือนรอมฎอนอีกครั้ง เพื่อตักตวงทำความดีที่จะได้รับผลบุญเป็นทวีคูณ ซึ่งผู้ที่นับถึงศาสนาอิสลามจะกระทำกิจกรรมต่างๆ เช่น อ่านคัมภีร์อัลกุรอาน ละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ และเอี๊ยะติกัฟใน ๑๐ วันสุดท้าย กระทั่งสิ้นเดือนรอมฎอน จะร่วมละหมาดซูนัต วันอีฎิ้ลฟิตริ ในเช้าตรู่วันต่อมา
     การละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ เป็นการละหมาดเสริม (สุนัต) เพิ่มผลบุญที่มีเฉพาะในเดือนรอมฎอน เป็นการละหมาดที่มีจำนวนหลายรอบและใช้เวลานาน เนื่องจากมีการอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน ในแต่ละรอบของการละหมาด มัสยิดแต่ละแห่งจะนำผู้ที่มีความสามารถด้านการอ่านและจำบทในอัลกุรอานตลอดทั้งเล่ม มาอ่านอย่างถูกต้อง ไพเราะราวบทกวีที่นิพนธ์โดยพระเจ้า ซึ่งนอกจากได้รับผลบุญจากการฟังแล้ว ยังทำผู้ฟังให้ตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของอัลกุรอานที่กล่าวถึงเรื่องราวทั้งในจักรวาล อดีต อนาคต รวมทั้งศาสตร์ต่างๆ ประทานลงมาผ่านศาสดามูฮัมหมัด ผู้ที่ไม่เคยรับการศึกษาได้อย่างน่าอัศจรรย์ นำมาซึ่งความเลื่อมใสศรัทธาให้กับมุสลิมมากยิ่งขึ้น  
   
     ส่วนการเอี๊ยะติกัฟ ใน ๑๐ คืนสุดท้าย เป็นการเข้าพำนักพักอาศัยในมัสยิด ปลีกตัวจากภารกิจทางโลกทั้งปวง เก็บตัวแสวงหาความสงบในจิตใจ ทบทวนสิ่งต่างๆ ในชีวิต เพื่อนำสู่การปรับปรุงและแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด พร้อมกับการอภัยโทษในเดือนแห่งความเมตตา อาจกล่าวได้ว่าการถือศีลอดและการเอี๊ยะติกัฟ คือการชำระบาป ล้างสิ่งโสมมออกจากร่างกายและจิตใจ พร้อมกับการรับผลบุญอันมหาศาลในคืนลัยละตุลก็อดร์ที่จะมีขึ้นใน ๑๐ คืนสุดท้าย ซึ่งมุสลิมทั้งหลายต่างเฝ้าคอย
     สำหรับใน ๓ วันสุดท้าย ของการถือศีลอด ผู้ถือศีลอดจะเริ่มบริจาคทาน (ซะกาต) ซึ่งมี ๒ ประเภท คือ ทานที่ผู้ถือศีลอดทุกคนต้องบริจาคด้วยการจ่ายปัจจัยที่เป็นอาหารสำหรับการบริโภคในประจำวันส่วนใหญ่นิยมใช้ข้าวสาร หรือเป็นเงินสดตามเกณฑ์ที่กำหนด อันเป็นทานบังคับที่จะทำให้การถือศีลอดครบถ้วนสมบูรณ์ รวมทั้งทานบริจาคที่สมัครใจให้กับผู้ยากไร้โดยไม่กำหนดจำนวน ส่วนทานอีกประเภทหนึ่งคือทานทรัพย์สิน สำหรับผู้ที่มีทรัพย์สินคงเหลือในรอบปีที่ผ่านมาตามกำหนด ให้กับผู้มีที่มีคุณสมบัติและสิทธิ์จะได้รับ เช่น คนยากจน เด็กกำพร้า เป็นต้น อันเป็นการจ่ายภาษีทางศาสนาซึ่งมีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยทั้งหมดต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนการละหมาดสุนัตในวันอีฎิ้ลฟิตริ วันสิ้นสุดของการถือศีลอดคือวันที่ ๑ ของเดือนถัดไป มุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียกว่า วันรายอปอซอ หรือรายอฟิตเราะห์ และจะมีการจัดกิจกรรมรื่นเริงตามประเพณี

     การละหมาดสุนัตอีฎิ้ลฟิตริ เป็นอีกหนึ่งการปฏิบัติเสริมที่เพิ่มผลบุญของการถือศีลอด โดยจะทำการละหมาดในตอนเช้าร่วมกันที่มัสยิด พร้อมกับการอ่านคุตบะห์หรือปาฐกถาธรรม ย้ำเตือนการปฏิบัติให้อยู่หลักการอิสลาม ซึ่งประกอบด้วยหลักปฏิบัติ ๕ ประการ คือ การปฏิญาณตนยอมรับอัลลอฮฺเป็นพระเจ้า และมูฮัมหมัด(ซ.ล.)เป็นศาสดา การละหมาดวันละ ๕ เวลา การถือศีลอด การบริจาคทาน และการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์สำหรับผู้ที่มีความสามารถ สำหรับการบริจาคทานหรือซะกาตเป็นข้อปฏิบัติที่ต่อเนื่องหลังจากการถือศีลอดและเผชิญกับความหิวอาหาร ทำให้เข้าใจสภาพของผู้ยากไร้เกิดความเห็นอกเห็นใจ กลายเป็นผู้มีจิตเมตตา นำมาสู่การบริจาคแบ่งบัน สร้างสังคมที่เอื้ออาทรสมานฉันท์และสันติสุขที่เป็นรูปธรรม  
     การถือศีลอดนอกจากเป็นการกระทำที่แสดงถึงศรัทธา เกรงกลัว และซื่อสัตย์ต่อพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ยังส่งผลให้เกิดความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น บังคับควบคุมตนเองให้มีวินัย อยู่ในความดีงาม มีความเมตตา อันเป็นคุณธรรมที่พึงประสงค์ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคมส่วนรวม อีกทั้งยังเกิดประโยชน์ต่อตนเอง ทำให้ผู้ถือศีลอดมีสุขภาพที่ดี ปลอดภัยจากโรคภัยบางอย่างที่มาจากสารอาหารส่วนเกิน ทั้งนี้เนื่องจากสารส่วนเกินจะถูกนำมาทดแทนความขาดแคลนระหว่างการถือศีลอด ส่วนการรับประทานผลอินทผลัม ทำให้ร่างกายลดความอ่อนเพลียจากการอดอาหาร เนื่องจากมีสารบางอย่างที่ทำให้ร่างกายมีความสดชื่น ซึ่งเพิ่งจะมีการค้นพบจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เมื่อไม่นาน ทั้งที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงเรื่องนี้มาแล้วกว่า ๑,๔๐๐ ปี เป็นหนึ่งในความมหัศจรรย์ของคัมภีร์ที่ทำให้นับวันมีผู้ศรัทธาเพิ่มมากขึ้น

     จังหวัดชายแดนภาคใต้ประชาชนส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาอิสลาม ต่างยึดมั่นปฏิบัติตนในหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด ยิ่งปัจจุบันจะเห็นได้ชัดถึงการตื่นตัว โดยเฉพาะในเดือนรอมฎอน จะเห็นได้ว่ามีพี่น้องมุสลิมเป็นจำนวนมากได้ให้ความสำคัญในห้วงเดือนอันประเสริฐนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความก้าวหน้าทางการศึกษา ที่ทำให้ประชาชนมีความรู้ เกิดความศรัทธา และเข้าใจในหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง อีกทั้งนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมและ สนับสนุน ให้ประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม ให้สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเต็มที่ จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจและเพิ่มความศรัทธาให้เกิดการปฏิบัติอย่างกว้างขวาง นับเป็นเทศกาลและวัฒนธรรมแห่งการทำความดีที่งอกงามมาจากหลักศาสนาอย่างที่เห็นในปัจจุบัน อันจะเป็นหนทางนำไปสู่การสร้างความสันติสุขให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป   
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559

รอมฎอนเดือนแห่งสันติสุข

ที่มา หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๙
โดย ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค ๔ สน.
     เดือนรอมฎอน เดือนแห่งการถือศีลอดตามศาสนาอิสลาม ปีนี้เริ่มต้นวันที่ ๗  เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๙ ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามจะงดเว้นจากการรับประทานอาหาร และดื่มน้ำ รวมทั้งการกระทำที่จะนำไปสู่ความเสื่อม รักษาร่างกายจิตใจให้บริสุทธิ์ เปรียบประดุจการเตรียมตัวเข้าเฝ้าพระผู้เป็นเจ้าเพื่อรับความเมตตาและอภัยโทษ อีกทั้งมุ่งมั่น ทำความดีเพื่อรับผลตอบแทนด้วยผลบุญที่มากกว่าเดือนอื่นๆ เป็นทวีคูณ ถือเป็นเดือนอันประเสริฐที่ชาวมุสลิมทั้งหลายต่างรอคอย 
     จังหวัดชายแดนภาคใต้ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีความศรัทธาและปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องยิ่งปัจจุบันความตื่นตัวในการปฏิบัติของประชาชนมีมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการออกมาร่วมละหมาดในเวลากลางคืน ในมัสยิดทุกแห่ง นำความเปลี่ยนแปลงสู่วิถีชีวิตและวิถีสังคมที่นิยมปฏิบัติและศรัทธาในศาสนาอย่างน่าชื่นชม อย่างไรก็ตามก็มีสิ่งที่น่าเป็นห่วงเกิดขึ้น คือ ในห้วง ๓ – ๔ ปี ที่ผ่านมา เดือนรอมฎอน จะถูกนำมาเชื่อมโยงกับเหตุรุนแรง ที่ ผู้ไม่หวังดีพยายามสร้างสถานการณ์โดยไม่คำนึงถึงคุณค่าและความสำคัญของเดือนรอมฏอน ทั้งนี้ก็เพื่อทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อภาครัฐ รวมทั้งสื่อมวลชนเองมักนำเสนอข่าวในเชิงเปรียบเทียบทางสถิติ ทำให้เดือนรอมฎอนกลายเป็นเดือนแห่งการติดตามและเฝ้าระวังการก่อเหตุร้าย ส่งผลให้ภาพลักษณ์และคุณค่าของเดือนรอมฎอน ต้องด่างพร้อยและหม่นหมอง ผู้นำศาสนาและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า รวมทั้งส่วนราชการต่างๆ ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมมือกันเพื่อรักษาคุณค่าและความบริสุทธิ์ไว้  อีกทั้งเพื่อรักษาความสงบสุขให้ประชาชนสามารถปฏิบัติกิจสำคัญได้อย่างสมบูรณ์ จึงได้ร่วมกันกำหนดมาตรการต่างๆ ขึ้นทั้งด้านการป้องกันเหตุร้าย การอำนวยความสะดวก และการส่งเสริม รวมทั้งประชาสัมพันธ์เชิญชวนพี่น้องมุสลิมร่วมประกอบศาสนกิจได้อย่างมั่นใจและพร้อมเพรียง  

     แท้จริงแล้ว มาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงเดือนรอมฎอน ได้มีมาตั้งแต่ ปี ๒๕๔๗ แล้วและมีการพัฒนาปรับปรุงอย่างเป็นระบบ ในช่วง ๔ – ๕ ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า มอบหมายให้หน่วยเฉพาะกิจทุกหน่วย กำหนดมาตรการไม่ให้เกิดเหตุร้ายทำลายบรรยากาศและรบกวนการปฏิบัติศาสนกิจของพี่น้องมุสลิม โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ที่ประชาชนส่วนใหญ่ จะรวมตัวละหมาด    ตะรอเวียะห์ ที่มัสยิดและจะเดินทางไปมาหาสู่กันในเวลากลางคืน โดยปรับการปฏิบัติของจุดตรวจ จุดสกัดต่างๆ ให้ อำนวยความสะดวก ผ่อนปรนการปฏิบัติในห้วงเวลาสำคัญ รวมทั้งบริการแจกจ่ายน้ำดื่มกับผลอินทผาลัมสำหรับผู้ที่อยู่ในระหว่างเดินทางใกล้เวลาละศีลอดให้สามารถละศีลอดได้ตามกำหนดเวลา
     ส่วนด้านการส่งเสริม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สนับสนุนปัจจัยในการละศีลอด เช่น ข้าวสาร น้ำตาล รวมทั้งผลอินทผาลัม  ให้กับมัสยิด ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้สนับสนุนเงินเป็นค่าเลี้ยงอาหารละศีลอด สำหรับผู้ที่เอี๊ยะติกัฟพักแรมในมัสยิด ๑๐ วันสุดท้ายด้วย ส่วนราชการอื่นๆ ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ได้แจกจ่ายปัจจัยต่างๆ ไปยังประชาชนจนถึงครัวเรือน รวมทั้งให้บริการด้านสุขภาพโดยศูนย์แพทย์ทหารบกจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่คอยให้คำแนะนำ และรักษาสุขภาพให้กับประชาชนที่เจ็บป่วย ทั้งใน ที่ตั้งและพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมละศีลอดในช่วงรอมฎอน สืบเนื่องกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรม
     ด้านการประชาสัมพันธ์ ได้มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวน พี่น้องมุสลิมร่วมปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอนผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งจัดทำปฏิทินแสดงเวลาละศีลอดในแต่ละวัน แจ้งเตือนเวลาละศีลอดทางวิทยุกระจายเสียงในแต่ละจังหวัดเป็นประจำทุกวัน และที่สำคัญได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ที่หลบหนีจากการถูกสงสัยให้เข้ารายตัวกลับมาร่วมปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอนกับครอบครัว และเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ซึ่งหลายปีที่ผ่านมามีผู้ต้องสงสัยตามหมายต่างๆ กลับเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญได้จัดให้มีพิธีละหมาดฮายัต ขอพรให้ปราศจากเหตุรุนแรงในช่วงรอมฎอน และออกแถลงการณ์เชิญชวนแนะนำให้ปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง  พร้อมจัดเวทีเสวนาในหัวข้อเกี่ยวกับความสำคัญของเดือนรอมฎอน เผยแพร่ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียง และทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ทั่วประเทศ
     เช่นเดียวกับปีนี้ พลโท วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ ๔/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ได้ให้ความสำคัญโดยสั่งการให้เตรียมการตั้งแต่ก่อนเข้าเดือนรอมฎอน ซึ่งได้มีการประชุมประสานงานกับส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมในทุกด้าน รวมทั้งด้านการประชาสัมพันธ์โดยจัดทำแผนปฏิบัติต่างๆ เช่น วันที่ ๓๐ พฤษภาคม จัดให้มีการแถลงข่าวเชิญชวนประชาชนร่วมละหมาดฮายัต ณ มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ในวันที่ ๑ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๙ พร้อมรับฟังแถลงการณ์ร่วม และการเสวนาของผู้นำศาสนา 
     ซึ่งการเสวนาในปีนี้ มีผู้นำศาสนาและนักวิชาการร่วมเสวนาจำนวน ๓ ท่าน ประกอบด้วย  ดร.อิสมาแอลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ดร.วิสุทธิ์  บินล่าเต๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรี และนายอับดุลฮาซิส  กาแบ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา หัวข้อ “รอมฎอนสันติสุข คืนความสุขสู่ชายแดนใต้” โดยเวทีเสวนาชี้ให้เห็นว่า การถือศีลอดด้วยการงดการกระทำความชั่ว มีความตักวา (ความศรัทธาที่แท้จริง) เกรงกลัวต่ออัลลอฮฺ ที่จะกระทำความผิด และผลของความมุ่งมั่นทำความดีมีความเมตตาปฏิบัติตามหลักการศาสนาและแบบอย่างของศาสดา ซึ่งนอกจากทำให้รับผลตอบแทนด้วยผลบุญอันมหาศาลแล้ว ยังส่งผลต่อความสงบสุขต่อตนเอง ต่อชุมชมปราศจากเหตุร้ายรุนแรง เป็นสังคมสมานฉันท์นำสันติสุขสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั่นเอง   พร้อมนี้ ผู้นำศาสนาได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เชิญชวนพี่น้องชาวไทยมุสลิมร่วมปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอน อย่างเคร่งครัด ลด ละ เลิก สิ่งอบายมุข ตลอดจนการกระทำที่สร้างความเดือดร้อนและเสียหายต่อสังคม ปฏิบัติตนตั้งมั่นในความดี ตลอดเดือนรอมฎอน และตลอดไป 
     เป็นที่น่ายินดีว่าหลังการเข้าสู่เดือนรอมฎอน ในช่วง ๓ สัปดาห์แรก ของปีที่ผ่านมา ไม่ปรากฏเหตุรุนแรงใดๆ การปฏิบัติศาสนกิจเป็นไปอย่างสงบสุข สร้างความรู้สึกยินดีให้กับทุกฝ่าย นับว่าเป็นห้วงระยะเวลาที่เงียบสงบยาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีมานับจากปี ๒๕๔๗ กล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้น ในการลดลงของความรุนแรงมาจนปัจจุบัน และเชื่อว่าเดือนรอมฎอนปีนี้ จะเป็นช่วงแห่งความสงบสุขอีกครั้งหนึ่ง ตามที่ทุกฝ่ายรอคอย