วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2559

คุณค่าการถือศีลอดในเดือนรอมฏอน

ที่มา นสพ.มติชน ฉบับวันที่ ๑๗ มิ.ย.๕๙
โดย ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค ๔ สน.

     การถือศีลอดในเดือนรอมฏอน เป็น ๑ ในหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลาม ซึ่งการปฏิบัติที่สำคัญคือ การงดเว้นจากการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ และการเสพสิ่งต่างๆ ในเวลากลางวัน หลีกเลี่ยงการกระทำที่ขัดกับจริยธรรมอันดีงาม มีความอดทนอดกลั้นต่ออารมณ์ความรู้สึกอันไม่พึงประสงค์ มุ่งมั่นทำความดีช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ สำรวมตนสรรเสริญพระเจ้า สำนึกในความเมตตาที่ให้โอกาสได้พบกับเดือนรอมฎอนอีกครั้ง เพื่อตักตวงทำความดีที่จะได้รับผลบุญเป็นทวีคูณ ซึ่งผู้ที่นับถึงศาสนาอิสลามจะกระทำกิจกรรมต่างๆ เช่น อ่านคัมภีร์อัลกุรอาน ละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ และเอี๊ยะติกัฟใน ๑๐ วันสุดท้าย กระทั่งสิ้นเดือนรอมฎอน จะร่วมละหมาดซูนัต วันอีฎิ้ลฟิตริ ในเช้าตรู่วันต่อมา
     การละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ เป็นการละหมาดเสริม (สุนัต) เพิ่มผลบุญที่มีเฉพาะในเดือนรอมฎอน เป็นการละหมาดที่มีจำนวนหลายรอบและใช้เวลานาน เนื่องจากมีการอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน ในแต่ละรอบของการละหมาด มัสยิดแต่ละแห่งจะนำผู้ที่มีความสามารถด้านการอ่านและจำบทในอัลกุรอานตลอดทั้งเล่ม มาอ่านอย่างถูกต้อง ไพเราะราวบทกวีที่นิพนธ์โดยพระเจ้า ซึ่งนอกจากได้รับผลบุญจากการฟังแล้ว ยังทำผู้ฟังให้ตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของอัลกุรอานที่กล่าวถึงเรื่องราวทั้งในจักรวาล อดีต อนาคต รวมทั้งศาสตร์ต่างๆ ประทานลงมาผ่านศาสดามูฮัมหมัด ผู้ที่ไม่เคยรับการศึกษาได้อย่างน่าอัศจรรย์ นำมาซึ่งความเลื่อมใสศรัทธาให้กับมุสลิมมากยิ่งขึ้น  
   
     ส่วนการเอี๊ยะติกัฟ ใน ๑๐ คืนสุดท้าย เป็นการเข้าพำนักพักอาศัยในมัสยิด ปลีกตัวจากภารกิจทางโลกทั้งปวง เก็บตัวแสวงหาความสงบในจิตใจ ทบทวนสิ่งต่างๆ ในชีวิต เพื่อนำสู่การปรับปรุงและแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด พร้อมกับการอภัยโทษในเดือนแห่งความเมตตา อาจกล่าวได้ว่าการถือศีลอดและการเอี๊ยะติกัฟ คือการชำระบาป ล้างสิ่งโสมมออกจากร่างกายและจิตใจ พร้อมกับการรับผลบุญอันมหาศาลในคืนลัยละตุลก็อดร์ที่จะมีขึ้นใน ๑๐ คืนสุดท้าย ซึ่งมุสลิมทั้งหลายต่างเฝ้าคอย
     สำหรับใน ๓ วันสุดท้าย ของการถือศีลอด ผู้ถือศีลอดจะเริ่มบริจาคทาน (ซะกาต) ซึ่งมี ๒ ประเภท คือ ทานที่ผู้ถือศีลอดทุกคนต้องบริจาคด้วยการจ่ายปัจจัยที่เป็นอาหารสำหรับการบริโภคในประจำวันส่วนใหญ่นิยมใช้ข้าวสาร หรือเป็นเงินสดตามเกณฑ์ที่กำหนด อันเป็นทานบังคับที่จะทำให้การถือศีลอดครบถ้วนสมบูรณ์ รวมทั้งทานบริจาคที่สมัครใจให้กับผู้ยากไร้โดยไม่กำหนดจำนวน ส่วนทานอีกประเภทหนึ่งคือทานทรัพย์สิน สำหรับผู้ที่มีทรัพย์สินคงเหลือในรอบปีที่ผ่านมาตามกำหนด ให้กับผู้มีที่มีคุณสมบัติและสิทธิ์จะได้รับ เช่น คนยากจน เด็กกำพร้า เป็นต้น อันเป็นการจ่ายภาษีทางศาสนาซึ่งมีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยทั้งหมดต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนการละหมาดสุนัตในวันอีฎิ้ลฟิตริ วันสิ้นสุดของการถือศีลอดคือวันที่ ๑ ของเดือนถัดไป มุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียกว่า วันรายอปอซอ หรือรายอฟิตเราะห์ และจะมีการจัดกิจกรรมรื่นเริงตามประเพณี

     การละหมาดสุนัตอีฎิ้ลฟิตริ เป็นอีกหนึ่งการปฏิบัติเสริมที่เพิ่มผลบุญของการถือศีลอด โดยจะทำการละหมาดในตอนเช้าร่วมกันที่มัสยิด พร้อมกับการอ่านคุตบะห์หรือปาฐกถาธรรม ย้ำเตือนการปฏิบัติให้อยู่หลักการอิสลาม ซึ่งประกอบด้วยหลักปฏิบัติ ๕ ประการ คือ การปฏิญาณตนยอมรับอัลลอฮฺเป็นพระเจ้า และมูฮัมหมัด(ซ.ล.)เป็นศาสดา การละหมาดวันละ ๕ เวลา การถือศีลอด การบริจาคทาน และการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์สำหรับผู้ที่มีความสามารถ สำหรับการบริจาคทานหรือซะกาตเป็นข้อปฏิบัติที่ต่อเนื่องหลังจากการถือศีลอดและเผชิญกับความหิวอาหาร ทำให้เข้าใจสภาพของผู้ยากไร้เกิดความเห็นอกเห็นใจ กลายเป็นผู้มีจิตเมตตา นำมาสู่การบริจาคแบ่งบัน สร้างสังคมที่เอื้ออาทรสมานฉันท์และสันติสุขที่เป็นรูปธรรม  
     การถือศีลอดนอกจากเป็นการกระทำที่แสดงถึงศรัทธา เกรงกลัว และซื่อสัตย์ต่อพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ยังส่งผลให้เกิดความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น บังคับควบคุมตนเองให้มีวินัย อยู่ในความดีงาม มีความเมตตา อันเป็นคุณธรรมที่พึงประสงค์ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคมส่วนรวม อีกทั้งยังเกิดประโยชน์ต่อตนเอง ทำให้ผู้ถือศีลอดมีสุขภาพที่ดี ปลอดภัยจากโรคภัยบางอย่างที่มาจากสารอาหารส่วนเกิน ทั้งนี้เนื่องจากสารส่วนเกินจะถูกนำมาทดแทนความขาดแคลนระหว่างการถือศีลอด ส่วนการรับประทานผลอินทผลัม ทำให้ร่างกายลดความอ่อนเพลียจากการอดอาหาร เนื่องจากมีสารบางอย่างที่ทำให้ร่างกายมีความสดชื่น ซึ่งเพิ่งจะมีการค้นพบจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เมื่อไม่นาน ทั้งที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงเรื่องนี้มาแล้วกว่า ๑,๔๐๐ ปี เป็นหนึ่งในความมหัศจรรย์ของคัมภีร์ที่ทำให้นับวันมีผู้ศรัทธาเพิ่มมากขึ้น

     จังหวัดชายแดนภาคใต้ประชาชนส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาอิสลาม ต่างยึดมั่นปฏิบัติตนในหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด ยิ่งปัจจุบันจะเห็นได้ชัดถึงการตื่นตัว โดยเฉพาะในเดือนรอมฎอน จะเห็นได้ว่ามีพี่น้องมุสลิมเป็นจำนวนมากได้ให้ความสำคัญในห้วงเดือนอันประเสริฐนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความก้าวหน้าทางการศึกษา ที่ทำให้ประชาชนมีความรู้ เกิดความศรัทธา และเข้าใจในหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง อีกทั้งนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมและ สนับสนุน ให้ประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม ให้สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเต็มที่ จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจและเพิ่มความศรัทธาให้เกิดการปฏิบัติอย่างกว้างขวาง นับเป็นเทศกาลและวัฒนธรรมแห่งการทำความดีที่งอกงามมาจากหลักศาสนาอย่างที่เห็นในปัจจุบัน อันจะเป็นหนทางนำไปสู่การสร้างความสันติสุขให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป   
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น