วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2559

             มัสยิดวาดีอัลฮุสเซ็น คนทั่วไปรู้จักในนามมัสยิด ๓๐๐ ปี เป็นมัสยิดที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาบูโด หมู่บ้านตะโละมาเนาะ ตำบลลุโบะสาวอ อำเภอบาเจาะ ห่างจากจังหวัดนราธิวาสบนถนนสาย ๔๒ นราธิวาส–ปัตตานี ระยะทาง ๒๔ กิโลเมตร เป็นมัสยิดที่เก่าแก่สร้างด้วยไม้ตะเคียน ใช้สลักไม้แทนตะปูยึดตัวอาคารทั้งหลัง สร้างขึ้นในสมัยเดียวกันกับมัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี หากแต่มีรูปร่างที่แตกต่างกัน โดยมัสยิดกรือเซะได้รับอิทธิพลด้านสถาปัตยกรรมจากตะวันออกกลาง ส่วนมัสยิดตะโละมาเนาะ สร้างขึ้นจากการผสมผสานของสถาปัตยกรรมท้องถิ่น
         ลักษณะที่โดดเด่นคือ เป็นมัสยิดที่มีลักษณะรูปร่างคล้ายกับวัดทางพุทธศาสนา ตัวอาคารเป็นเรือน                สองขนาดเชื่อมต่อกัน มีหลังคาสองชั้น อาคารหลังเล็กยื่นไปทางทิศตะวันตกมีหลังคาเป็นทรงปั้นหยาทั้งสองชั้นมีเก๋งจีนตั้งอยู่บนมุมหลังคาที่ด้านหน้า ส่วนอาคารหลังใหญ่มีหลังคาทรงหน้าจั่วปลายแหลมคล้ายหลังคาโบสถ์ ตั้งอยู่ด้านบนของหลังคาทรงปั้นหยาที่รองรับอยู่ด้านล่าง เมื่อมองจากที่ไกลจะเห็นภาพหลังคาโบสถ์ตั้งเด่นบนฐานเหมือนพานรองรับ โดยมีเก๋งจีนอยู่เคียงข้าง ทำให้ดูสวยงามอลังการอย่างไม่มีที่ใดเหมือน แตกต่างกับมัสยิดที่พบเห็นโดยทั่วไป 
         มัสยิดหลังนี้จึงเห็นได้ชัดถึงการผสมผสานระหว่างศิลปะแบบไทย จีน มลายู โดยส่วนที่เป็นหลังคาหน้าจั่วคล้ายกับโบสถ์ เป็นศิลปะแบบไทยที่นิยมสร้างในพื้นที่ภาคกลาง ส่วนหอสี่เหลี่ยมที่คล้ายกับเก๋งจีนซึ่งมีหน้าต่างทั้ง ๔ ด้าน เป็นศิลปะแบบจีน นิยมสร้างเป็นศาลาสามารถพบเห็นตามที่สาธารณะหรือสุสานของชาวจีน สำหรับเป็นที่ตะโกนบอกเมื่อถึงเวลาละหมาดหรือเสียงอาซาน ซึ่งต้องตั้งอยู่ในที่สูงเพื่อให้เสียงกระจายออกไปไกล ส่วนอาคารทรงปั้นหยาที่ตั้งเป็นฐานรองรับที่ด้านล่างเป็นรูปแบบของศิลปะแบบมลายูในภาคใต้ตอนล่าง  
         นอกจากความสวยงามที่เกิดจากการผสมผสานของศิลปะทั้งสามลักษณะดังกล่าวแล้ว  ขนาดของหลังคารูปแบบต่างๆ มีขนาดสัดส่วนที่สื่อความหมายกับจำนวนประชากรเชื้อสายต่างๆ กล่าวคือ หลังคาทรงปั้นหยาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดหมายถึงชาวมลายูที่มีจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นชาวไทยพุทธซึ่งสอดคล้องกับขนาดของหลังคาโบสถ์ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าทรงปั้นหยา ส่วนเก๋งจีนที่มีขนาดเล็กที่สุดหมายถึง ชาวไทยเชื้อสายจีนซึ่งมีจำนวนน้อยที่สุด นับเป็นความมหัศจรรย์ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นความบังเอิญหรือเจตนาของผู้ก่อสร้างในยุคนั้น   
          ไม่เพียงแต่ความอัศจรรย์จากสิ่งที่ได้กล่าวแล้ว ส่วนประกอบอื่นๆ ที่เป็นงานจิตรกรรมการแกะสลักประดับรอบอาคาร  ก็มีความแตกต่างเช่นเดียวกัน  เริ่มตั้งแต่จันทัน ที่ห้อยเรียงรายใต้ชายคา บางอันแกะสลักเป็น                     ดอกบัวบาน ดอกนมแมว มากมายหลากหลายรูปแบบ ส่วนช่องลมที่ทำด้วยไม้กระดานตั้งระหว่างฝากับเพดาน มีการแกะสลักและฉลุเป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลวดลายที่โค้งมนอ่อนช้อยเหมือนลายกนกแบบลายไทย บ้างเป็นลวดลายเส้นตรงตัดเป็นช่องเล็ก ๆ อย่างละเอียดเป็นระเบียบแบบที่ชาวจีนนิยมใช้ อีกทั้งลายเถาว์ที่คล้ายไม้เลื้อยซึ่งเป็นที่นิยมของชาวมลายูในภาคใต้ วางสลับอยู่รายรอบอาคารทั้งสี่ด้าน เป็นสิ่งที่ตอกย้ำความลงตัวและงดงามจากจากความหลากหลายที่คนส่วนใหญ่มองข้าม   
          มัสยิด ๓๐๐ ปี ปัจจุบันยังใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา เป็นศูนย์กลางของชุมชน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สำหรับต้อนรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะชาวอาเซียนที่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน
         นอกจากเป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่าแล้ว  มัสยิด ๓๐๐ ปี ยังเป็นเสมือนปริศนาที่จะสื่อมายังอนุชนคนรุ่นหลังให้รับรู้ว่า ความงดงามย่อมเกิดขึ้นได้จากการรู้จักใช้ศิลปะผสมผสานระหว่างความหลากหลาย การรู้จักคุณค่าและเคารพในสิ่งที่แตกต่าง ซึ่งถือเป็นปรัชญาการดำเนินชีวิตในสังคมพหุวัฒนธรรมที่จะนำไปสู่ความสันติสุขชั่วกาลนาน      

 

 

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2559

ฮัจญ์...ปลายทางศรัทธาในวิถีมุสลิม

ที่มา นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 9 ก.ย.59
โดย ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค 4 สน.

ไม่มีการเดินทางครั้งใดในชีวิตมุสลิมที่จะยิ่งใหญ่เท่ากับการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย การปฏิบัติข้อสุดท้ายตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม เปรียบประดุจการเดินทางไปยังบ้านของพระเจ้า ภารกิจอันทรงเกียรติที่มุสลิมทั้งหลายต่างมุ่งมั่นและรอคอย เมื่อถึงเวลาดังกล่าวมุสลิมทุกเผ่าพันธุ์ ทุกเชื้อชาติจากทุกสารทิศจะหลั่งไหลไปรวมตัวเพื่อร่วมทำพิธีจำนวนนับล้านในแต่ละปี  
พิธีฮัจญ์ ถูกกำหนดให้มีมานับตั้งแต่อดีต ซึ่งเป็น ๑ ใน ๕ ตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม ในอดีตการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ เป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องเดินทางด้วยเรือเดินทะเล ใช้ระยะเวลายาวนานเป็นแรมเดือน อีกทั้งยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อเภทภัยในรูปแบบต่างๆ บางรายประสบปัญหาเจ็บป่วยและเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง ทำให้การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในสมัยนั้น อาจหมายถึงการเดินทางครั้งสุดท้ายในชีวิต จึงทำให้ญาติมิตรต่างรู้สึกอาลัยอาวรณ์ และมีการกล่าวอโหสิกรรมให้กันและกัน เสมือนเป็นประเพณีแห่งการร่ำลาที่สืบทอดมาจนปัจจุบัน                              
ปัจจุบันการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ส่วนใหญ่ใช้เครื่องบินโดยสารเป็นยานพาหนะ มีความสะดวกและรวดเร็ว มากขึ้น สำหรับในประเทศไทยมีเส้นทางการบินหลายเส้นทาง เช่น จากสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิสำหรับผู้ที่อยู่ในภาคกลางและภาคอื่นๆ สนามบินนานาชาติหาดใหญ่ สนามบินภูเก็ต สนามบินนครศรีธรรมราช สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ และสนามบินจังหวัดนราธิวาส สำหรับผู้ที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การประกอบพิธีฮัจญ์ในปัจจุบัน มีผู้ประกอบกิจการคอยอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ เริ่มตั้งแต่การติดต่อกับส่วนราชการในการออกหนังสือเดินทาง การจัดการเรื่องเครื่องบินเดินทาง อาหารและที่พัก และอื่นๆ ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายการส่งเสริมกิจการฮัจญ์ของรัฐบาล ที่ได้มีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจญ์ขึ้น โดยกำหนดให้มี คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทยมีหน้าที่ออกระเบียบ ข้อบังคับ ว่าด้วยการส่งเสริมกิจการฮัจญ์ เพื่ออำนวยความสะดวก รวมทั้งมีหลักประกันในความปลอดภัยให้กับผู้ไปประกอบพิธี พร้อมทั้งแต่งตั้งอะมีรุ้ลฮัจญ์หัวหน้าคณะผู้แทนฮัจญ์อย่างเป็นทางการของประเทศไทยเพื่อประสานงานกับทางประเทศซาอุดิอาระเบีย เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยสามารถประกอบพิธีได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วนทุกขั้นตอนตามที่เรียกกันว่าฮัจญ์มับรูจที่บรรดาผู้แสวงบุญทั้งหลายต้องการ
พิธีฮัจญ์ จะมีขึ้นในวันที่ ๘  เดือนซุลฮิจยะห์ เดือนสุดท้ายของปีฮิจเราะฮ์ศักราช ประกอบด้วยขั้นตอนการปฏิบัติ ต่างๆ เริ่มต้นจากผู้ประกอบพิธีที่ไปรวมตัวที่นครเมกกะ และเข้าสู่การครองอิหฺรอมด้วยการแต่งกายด้วยผ้าขาว ตั้งเจตนาที่จะปฏิบัติเพื่อพระเจ้า หลังจากนั้นจะออกเดินทางไปยังทุ่งมีนาพักแรม ๑ คืน เช้าตรู่ออกเดินทางสู่ทุ่งอะระฟะฮฺ ซึ่งจะถึงประมาณเวลาบ่ายก็จะทำวูกูฟ หรือขอพรต่อพระเจ้าไปจนถึงค่ำ หลังจากนั้นจะออกเดินทาง  ในเวลากลางคืนไปยังทุ่ง มุซตะลิฟะฮฺ พักค้างแรมอีก ๑ คืน พอรุ่งขึ้นตรงกับวันที่ ๑๐ จะเป็นวันรายอวันอีดิลอัฎฮา ส่วนผู้ที่ไม่ไปร่วมพิธีฮัจญ์จะทำกุรบานและละหมาดในมัสยิด ผู้ที่เข้าร่วมพิธีจะทำการโกนผมเปลื้องเครื่องแต่งกายจากชุด อิหรอมเป็นชุดปกติ เดินทางกลับมายังทุ่งมีนาอีกครั้งหนึ่งเพื่อทำพิธีขว้างเสาหินจำนวน ๓ ต้น ในเวลา ๓ วัน หลังจากนั้นจะออกจากทุ่งมีนามุ่งสู่สถานที่สำคัญคือมัสยิดอัลฮารอม ศูนย์กลางศาสนาอิสลามเพื่อเวียนรอบกะบะห์หรือหินดำจำนวน ๗ รอบ และเดินไปมาระหว่างเขา ๒ ลูกคือ เขาซอฟาและเขามัรวะฮฺ ครบ ๗ เที่ยว จึงจะกลับเข้าเวียนรอบหินดำอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี
                        
สำหรับพิธีฮัจญ์ปีนี้ตรงกับวันที่ ๑๐ เดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๕๙ ผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ส่วนใหญ่เริ่มทยอยเดินทางไปล่วงหน้าตั้งแต่เดือนสิงหาคม ทั้งนี้เพื่อเยี่ยมเยือนสถานที่สำคัญๆ ทางศาสนา เช่น มัสยิดกุบาอ์ มัสยิดแรกที่ศาสดามูฮัมหมัดสร้างขึ้นในครั้งที่อพยพมาที่มาดีนะห์ ภูเขาอูฮูด สมรภูมิสงครามครั้งประวัติศาสตร์ที่ทำให้มุสลิมต้องสูญเสียนักรบชะฮีดมากที่สุด และมัสยิดนะบะวีย์ หรือมัสยิดนบีเพื่อเยี่ยมกุโบร์ของศาสดา ซึ่งทั้งหมดเป็นกิจกรรมเสริมการประกอบพิธีฮัจญ์ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น  
ซึ่งปีนี้ทางรัฐบาลโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับบริษัทการบินไทย ได้จัดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ให้กับผู้เดินทางจากจังหวัดชายแดนภาคใต้  ที่บินตรงจากท่าอากาศยานนราธิวาส ไปยังท่าอากาศยานมาดีนะด์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๙  โดยมีนายภาณุ  อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธาน พร้อมด้วยนายสิทธิชัย  ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส หัวหน้าส่วนราชการ รวมทั้งญาติพี่น้องผู้แสวงบุญและประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมพิธีส่งและขอดุอาร์อำนวยพรให้กับผู้เดินทางอย่างสมเกียรติ สำหรับปีนี้บริษัทการบินไทยได้จัดเที่ยวบินพิเศษ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน ๔ เที่ยวบิน มีผู้โดยสารรวม ๑,๑๔๗ คน ให้บริการระหว่างวันที่ ๔๕ สิงหาคม ๒๕๕๙ ต่อเนื่องเป็นปีที่ ๔ นับตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ เป็นต้นมา ซึ่งปีนี้มีผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์จากประเทศไทยรวมทั้งสิ้น ๙,๖๐๒ คน จากจำนวนผู้เข้าร่วมพิธีทั้งสิ้นกว่า ๓ ล้านคน จากทั่วโลก
                        
การประกอบพิธีฮัจญ์เป็นการปฏิบัติประการสุดท้ายตามบทบัญญัติ ๕ ประการของศาสนาอิสลาม ที่มุสลิมทุกเผ่าพันธุ์ ทุกเชื้อชาติต่างรอคอยโอกาส และด้วยศรัทธาอันแรงกล้าที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ทำให้มุสลิมจำนวนมากพยายามสะสมเงินตราที่หาได้มาเกือบตลอดชีวิต เพื่อให้ได้ไปปฏิบัติครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามมีมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยส่วนหนึ่ง ที่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลให้ได้รับโอกาสเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์โดยใช้งบประมาณจากโครงการของรัฐบาล ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบแทนคุณงามความดีที่ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งส่วนราชการ โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้  เป็นผู้คัดสรร ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
 







วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2559

พรรษานี้ที่ชายแดนใต้

ที่มา นสพ.ข่าวสดฉบับวันที่ ๒๖ ส.ค.๕๙
โดย ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค ๔ สน.
             “บุคคลแม้จะงดงามด้วยเครื่องประดับอันมีค่า ก็ยังไม่งามเท่าผู้มีศีลเป็นอาภรณ์” พุทธวจนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ตรัสอุปมาเปรียบเทียบคุณค่าความงามอันเป็นรูปธรรม กับความงามอันเป็นนามธรรมของบุคคลที่มาจากจิตใจอันดีงาม ที่ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ ที่ปฏิบัติโดยทั่วไป หรืออุโบสถศีลที่ถือปฏิบัติในวันสำคัญทางพุทธศาสนา เช่น วันธรรมสวนะ รวมทั้งในช่วงของการเข้าพรรษา 
             ในสมัยพุทธกาลพระภิกษุต้องเดินทางเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนในที่ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงฤดูฝนจึงทำให้เกิดความเสียหายแก่พืชผลที่เพาะปลูก อีกทั้งไม่สะดวกในการเดินทาง พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษา กำหนดเป็นพระธรรมวินัยให้พระภิกษุสงฆ์หรือเถรวาท อยู่ประจำกับที่ โดยอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ วัดใดวัดหนึ่งตลอด ๓ เดือน โดยไม่ไปค้างงแรมที่อื่น อันเป็นช่วงฤดูฝนหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "จำพรรษา" เป็นช่วงเวลาสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกันภายในอาวาส หรือสถานที่ใดที่หนึ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วยกัน และถือเป็นโอกาสอันดีที่พุทธศาสนิกชนจะได้บำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญตักบาตรฟังพระธรรมเทศนา นอกจากนี้สิ่งที่พุทธศาสนิกชน ได้ร่วมมือกันจัดเพื่อเป็นพุทธบูชา คือ การหล่อเทียนพรรษาถวาย และถวายผ้าอาบน้ำฝน แด่พระสงฆ์สำหรับใช้ในระหว่างจำพรรษา และในโอกาสนี้พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่จะมีการปวารณาตัว ในการลดละเลิกอบายมุข เช่นการงดเหล้าเข้าพรรษา
 
            แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของพระภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญรักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปร่วมกันทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่นๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องสักการะบูชา ฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลที่วัด พุทธศาสนิกชนนิยมจัดพิธีบรรพชาอุปสมบทให้บุตรหลานของตน โดยเชื่อกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษา  เป็นการทดแทนบุญคุณบิดา มารดา ที่จะได้รับอานิสงส์สูง พระภิกษุจะสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้าเย็น ซึ่งจะต้องจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย ดังนั้นพุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงพร้อมใจกันหล่อเทียนพรรษา ถวายแด่พระสงฆ์ ปัจจุบันยังคงปฏิบัติเป็นประจำทุกปีจนเป็นประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่โบราณกาล ซึ่งเมื่อหล่อเสร็จแล้วก็จะนำไปประดับตกแต่งอย่างสวยงาม และนำไปจัดขบวนแห่ ก่อนที่จะนำไปถวายแด่พระภิกษุเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป   
            ในปัจจุบันการหล่อเทียนพรรษากลายเป็นประเพณีสำคัญ บางแห่งจัดเป็นเทศกาลประจำปี มีการประกวดขบวนแห่ที่ประดับประดาอย่างสวยงาม และมีการหล่อเทียนเป็นรูปปั้นต่างๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา ซึ่งนอกจากเป็นความสวยงามที่สร้างความตื่นตาต่อผู้เที่ยวชมแล้ว ยังทำให้ระลึกถึงพุทธประวัติ และพระธรรมคำสอน แล้วย้อนกลับมาระลึกนึกถึงตนเอง ว่าที่ผ่านมาได้ปฏิบัติตนอยู่ในศีลในธรรมเพียงใด จะได้ใช้โอกาสแห่งการเข้าพรรษาแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด ปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการถวายเทียนในเทศกาลเข้าพรรษา เป็นการนำแสงสว่างส่องธรรมเข้ามาในจิตใจ และนำแสงธรรมมาใช้ในประจำวัน นำทางให้ชีวิตเดินไปในความถูกต้อง เกิดความสงบสันติต่อตนเอง และผู้อื่น ซึ่งหลักธรรมประการหนึ่งของศาสนาพุทธคือ การมีความเมตตาและความกรุณา คือความปรารถนาดีอยากให้คนอื่นเป็นสุข และพ้นทุกข์ มีความรักใคร่ต่อมนุษย์ด้วยกันรวมทั้งสรรพสัตว์ทั้งหลาย ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จึงส่งผลให้พุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ย่อมเป็นที่รักใคร่ของคนทั้งหลาย
 
             จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นดินแดนที่มีผู้คนหลากหลาย ทั้งชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีนอยู่รวมกันอย่างกลมเกลียวนับตั้งแต่อดีต จึงมีความหลากหลายทั้งด้านประเพณี ศิลปะและวัฒนธรรม ที่เป็นจุดเด่นของพื้นที่ ภารกิจของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า นอกเหนือจากดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและส่งเสริมการพัฒนาในพื้นที่แล้ว การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและการส่งเสริมการปฏิบัติศาสนกิจของทุกศาสนาถือเป็นภารกิจที่สำคัญด้วยเช่นกัน
             ดังนั้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการปฏิบัติศาสนกิจของประชาชนในพื้นที่ จึงครอบคลุมทุกศาสนา เช่นศาสนาอิสลามในช่วงเดือนรอมฎอน ได้สนับสนุนอินทผลัมและสิ่งของต่างๆ เพื่อใช้ในการละศีลอด พร้อมส่งเสริมให้กำลังพลที่นับถือศาสนาอิสลามได้ปฏิบัติศาสนกิจ ส่วนในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ได้มีการจัดโครงการ หลอมรวมใจคนไทยทั้งชาติ อุปสมบทภิกษุเพื่อสืบสานพระพุทธศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ประจำปี ๒๕๕๙ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งมีผู้ที่เข้าร่วมอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ ตามโครงการดังกล่าว จำนวน ๑๙ รูป เพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนาและแก้ปัญหา วัด สำนักสงฆ์ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา หรือพำนักอยู่ประจำ ตลอดจนมอบหมายให้หน่วยเฉพาะกิจจังหวัด ดำเนินกิจกรรมถวายเทียนพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน พร้อมด้วยสิ่งของอุปโภค บริโภค แด่พระสงฆ์เพื่อใช้ในระหว่างการจำพรรษาในวัด และสำนักสงฆ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน ๓๑๖ วัด เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร รวมทั้งพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ พร้อมทั้งส่งเสริมให้กำลังพลที่นับถือศาสนาพุทธได้ร่วมทำบุญและปฏิบัติธรรมร่วมกับพี่น้องพุทศาสนิกชนในพื้นที่ด้วย เช่นการทำบุญตักบาตร การเวียนเทียน ซึ่งนอกจากศาสนาพุทธและศาสนาอิสลามแล้ว กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า ยังให้ความสำคัญกับเทศกาลกินเจของชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ด้วย   
               ทั้งนี้เชื่อว่า ทุกศาสนิกต่างยึดมั่นในหลักศาสนาอันถูกต้อง ไม่ตกเป็นเหยื่อการใส่ร้ายของผู้ไม่หวังดี และมุ่งปฏิบัติต่อกันดัวยความดีอย่างในอดีตแล้ว เชื่อว่าความรุนแรงจะลดลงและเลือนหายไปจากพื้นที่ บรรยากาศแห่งความสงบ ความสันติสุข จะกลับคืนสู่ชายแดนใต้ ดินแดนอันเป็นที่รักและหวงแหนของทุกคนอีกครั้ง



วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ความคืบหน้าการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา จชต.

ที่มา นสพ.ข่าวสดฉบับวันที่ ๒๒ ก.ค.๕๙
โดย ศูนย์ประชาสัมพันธุ์ กอ.รมน.ภาค ๔ สน.



การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้การบูรณาการของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานด้านความมั่นคงการบังคับใช้กฎหมาย งานด้านการพัฒนาตามแผนประชารัฐสร้างอำเภอสันติสุข รวมทั้งด้านสังคมวัฒนธรรม การส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักศาสนาในเดือนรอมฎอน ทุกส่วนราชการได้ดำเนินการจนมีความคืบหน้าและสัมฤทธิ์ผลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผลการดำเนินการดังกล่าวเป็นที่รับรู้ต่อคนไทยทั่วประเทศ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า ได้นำผลการปฏิบัติดังกล่าวมาแถลงผ่านสื่อมวลชนในรูปแบบนิทรรศการอีกครั้งที่สโมสรนายทหารสัญญาบัตร กองพลทหารราบที่ ๑๕ เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา
       

ผลการปฏิบัติงานที่สำคัญๆ ที่นำมาแถลงในครั้งนี้ ประกอบด้วยงานด้านความมั่นคง เกี่ยวกับความคืบหน้าการติดตามคนร้ายที่บุกยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้องและใช้เป็นฐานในการโจมตีกองร้อยทหารพรานที่ ๔๘๑๖ เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๙ ตามสั่งการ พลโท    วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ ๔/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ให้เร่งรัดการสืบสวน พยานหลักฐาน ดำเนินคดีจนสามารถออกหมายจับผู้ต้องสงสัย จำนวน ๓๘ ราย ควบคุมตัวได้ ๓ ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดี นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้จัดชุดปฏิบัติการพิเศษด้วยการสนธิกำลังติดตามผู้ก่อเหตุ ซึ่งที่ผ่านมาได้เข้าพิสูจน์ทราบในพื้นที่ต่างๆ เช่น เขาตะเว เขาบือเจง และอื่นๆ บริเวณใกล้เคียง สามารถตรวจยึดอาวุธปืน กระสุน อุปกรณ์ประกอบวัตถุระเบิด พร้อมยุทธภัณฑ์ และอุปกรณ์เตรียมการก่อเหตุหลายรายการ เช่น ๆ อาวุธกระสุน เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายเลียนแบบเจ้าหน้าที่ทหารพราน ยาและเวชภัณฑ์ อาหาร อุปกรณ์ดำรงชีพ วิทยุสื่อสาร และสามารถยึดทำลายฐานปฏิบัติการของผู้ก่อเหตุรุนแรงได้หลายฐาน และล่าสุด เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๙ ได้สนธิกำลังเข้าปิดล้อมฐานฝึกในพื้นที่อำเภอจะแนะ บนเขาหลังหมู่บ้านไอร์กิส ตำบลช้างเผือก เกิดการปะทะกับผู้ก่อเหตุรุนแรงที่กำลังวางแผนเตรียมก่อเหตุเสียชีวิต ๔ ราย สรุปผลการปฏิบัติโดยรวมตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงปัจจุบัน สามารถทำลายฐาน บนเขาได้จำนวน ๙ ฐาน ยึดอาวุธปืน เอ็ม ๑๖ จำนวน ๑๒ กระบอก ปืน เอเค ๔๗ จำนวน ๓ กระบอก ปืนพก .๓๘ ซูปเปอร์ จำนวน ๑ กระบอก อาวุธปืน เอสเค จำนวน ๑ กระบอก และอาวุธปืนลูกซอง จำนวน ๑ กระบอก รวมทั้งสิ้น ๑๘ กระบอก พร้อมกระสุนชนิดต่าง ๆ สิ่งอุปกรณ์ทั้งหมดที่ยึดมาได้นี้ ได้นำมาแสดงพร้อมๆ กับการแถลงข่าวครั้งนี้อย่างครบครัน
สำหรับงานด้านการพัฒนาในปี ๒๕๕๙ ได้นำแนวทางประชารัฐของนายกรัฐมนตรี มาดำเนินการโดยกำหนดแผนประชารัฐร่วมใจสร้างอำเภอสันติสุข โดยมีศูนย์ปฏิบัติการอำเภอเป็นหน่วยขับเคลื่อน เน้นการพัฒนาเพื่อช่วยเหลือและ  ตอบ สนองความต้องการประชาชน ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาได้จัดชุดสำรวจข้อมูลความต้องการของประชาชนเป็น   รายครัวเรือน เพื่อกำหนดแผนงานโครงการตามลำดับความสำคัญและเร่งด่วน ปัจจุบันได้ทำการสำรวจเสร็จสิ้นแล้ว ปรากฏว่ามีครัวเรือนทั้งสิ้น ๔๕๑,๑๔๐ ครัวเรือนขณะนี้ส่วนราชการต่างๆ ได้ปรับงบประมาณปกติมาตอบสนองความต้องการเร่งด่วนให้กับครอบครัวจำนวนทั้งสิ้น  ๑๙๒,๘๑๗ ครัวเรือน แบ่งเป็นความต้องด้านการเมืองจำนวน ๒๕,๒๒๔ ครัวเรือน ด้านการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนจำนวน ๑๒๕,๓๔๐ ครัวเรือน และด้านการส่งเสริมอาชีพจำนวน ๔๒,๒๕๓ ครัวเรือน สำหรับความต้องการของครัวเรือนที่เหลือจะได้นำเสนอให้หน่วยเหนือและส่วนที่เกี่ยวข้องพิจารณาสนับสนุน เพื่อที่จะนำมาดำเนินการตามความต้องการต่อไป
                          
 
สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างถนนที่มีส่วนผสมยางพาราตามนโยบายรัฐบาล ๓๗ เส้นทาง ๓๗ อำเภอ ระยะที่ ๒ ซึ่งแม่ทัพภาคที่ ๔/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ได้มอบแนวทางการดำเนินการให้เป็นถนนในใจประชาชน โดยให้หน่วยทหารช่างเฉพาะกิจทุกหน่วยที่เข้าปฏิบัติในพื้นที่ ให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทำการก่อสร้างในทุกด้าน ที่สำคัญคือการจ้างแรงงานในพื้นที่ สร้างรายได้ให้กับประชาชน ช่วยเหลือบรรเทาการขาดแคลนน้ำ และอื่นๆ ขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างใน ๑๘ เส้นทาง จาก ๓๗ เส้นทาง และก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ๑ เส้นทาง คือ เส้นทางบ้านสะปอม–หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ตำบลกะลุวอเหนือ ระยะทาง ๗.๗ กิโลเมตร ซึ่งได้ทำพิธีเปิดและ   ส่งมอบเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๙ โดย แม่ทัพภาคที่ ๔/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ เป็นประธาน
                    
 
งานการพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นอีกด้านหนึ่งที่คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ความสำคัญ โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหน่วยหลักในการดำเนินการ ซึ่งเน้นความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย ด้วยโครงการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้ประชาชนที่มีฐานะยากจน เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับหมู่บ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกำหนดเป้าหมายจำนวน ๑,๕๔๐ หลัง
สำหรับงานด้านอื่นๆ โดยเฉพาะให้ห้วงการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนเข้าปฏิบัติด้วยการจัดการเสวนาทางศาสนา การร่วมละหมาดฮายัต ขอพรให้เกิดความสันติสุข อีกทั้งการรักษาความปลอดภัย การอำนวยความสะดวก บริการแจกจ่ายน้ำดื่มกับผลอินทผลัมสำหรับประชาชนที่กำลังเดินทางสามารถละศีลอดได้ทันเวลา เช่นเดียวกันศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้  ก็ได้จัดชุดละศีลอดให้แก่ผู้ที่สัญจรไปมา เป็นการหนุนเสริมภารกิจของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า โดยกำหนดจุดแจกจ่ายที่สำคัญๆ คือ จุดตรวจก่อนเข้าจังหวัดสงขลา จุดตรวจเข้าจังหวัดนราธิวาส และจุดตรวจเข้าจังหวัดยะลา นอกจากนี้ยังจัดสิ่งจำเป็นสำหรับการบริโภคในเดือนรอมฎอน ข้าวสาร น้ำตาล สนับสนุนครอบครัวยากจน โดยมอบผ่านมัสยิดต่างๆ จำนวน ๒,๓๐๐ มัสยิด มัสยิดละ ๑๐ คน สนับสนุนงบประมาณให้กับสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้จัดกิจกรรมในเดือนรอมฎอน  รวมทั้งแจกจ่ายเครื่องแต่งกายชุดรายอให้กับเด็กกำพร้าทั้งไทยพุทธและมุสลิม จำนวน ๓,๗๐๐ ชุด
ส่วนการปฏิบัติอื่นๆ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้าและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงเดินหน้าปฏิบัติงานตามแผนงาน/โครงการ ที่มีเป้าหมายร่วมกันคือเกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดำเนินชีวิตในสังคมพหุวัฒธรรมอย่างสันติสุข ซึ่งผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาเป็นที่พอใจของประชาชน ประชาชนส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นต่อภาครัฐ และให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหามากยิ่งขึ้น 

วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

จากถนน 37 เส้นทางสู่ถนนในใจประชาชน

 ที่มา นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 8 ก.ค.59
โดย ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค สน.
 

          หลังจากโครงการสร้างถนนผสมยางพารา ๓๗ เส้นทาง ๓๗ อำเภอ ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ๔ อำเภอของจังหวัดสงขลาในปี ๒๕๕๘ สำเร็จส่งมอบให้กับประชาชนเป็นที่เรียบร้อย ต่อมาในปีงบประมาณ ๒๕๕๙ รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณอีกจำนวน ๙๓๑ ล้านบาทเศษ เพื่อสร้างถนนอีกจำนวน ๓๗ เส้นทาง ใน ๓๗ อำเภอ  เป็นโครงการระยะที่ ๒ ตามความต้องการของประชาชน ซึ่งกองทัพบกได้มอบหมายให้หน่วยทหารช่างจากทั่วประเทศจัดหน่วยทหารช่างเฉพาะกิจลงปฏิบัติในพื้นที่อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ พลโทวิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ ๔/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ได้มอบแนวทางการทำงานคือ“สร้างถนนในใจประชาชน”ควบคู่กับสร้างถนนคุณภาพสูงสูตรผสมยางพาราตามโครงการฯ ไปพร้อมๆ กัน  

       สำหรับมาตรฐานคุณภาพการสร้างถนนในครั้งนี้ใช้สูตรเดิมคือ นำยางพาราเป็นส่วนผสมของยางมะตอยในอัตราส่วนร้อยละ ๕ ซึ่งนอกจากทำให้ปริมาณการใช้ยางมะตอยจากการนำเข้าลดลงแล้ว ยังทำให้ถนนมีความทนทานสูงเพิ่มอายุการใช้งานได้มากกว่า ๒ เท่า แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นแต่สามารถลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงในระยะยาว ที่สำคัญคือส่งผลให้ปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นการกระตุ้นราคายางพาราช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายรัฐบาลอีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังสร้างงานให้กับประชาชนโดยกำหนดให้มีการจ้างแรงงานในพื้นที่เพื่อการมีส่วนร่วมตามแนวทางประชารัฐ มีรายได้เสริม ยิ่งไปกว่านั้นคือสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้ชื่อว่ามีถนนคุณภาพดีที่สุดในประเทศไทย โดยในปีที่ผ่านมา (พ.ศ. ๒๕๕๘)ได้ก่อสร้างเป็นระยะทาง ๑๖๔.๘ กิโลเมตร และปีนี้กำหนดเป้าหมายสร้างเพิ่มอีกเป็นระยะทาง ๑๔๙.๓ กิโลเมตร เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วจะทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มีถนนยางพาราคุณภาพดีรวมความยาวกว่า ๓๑๔ กิโลเมตร

         ในการดำเนินการได้แบ่งมอบเส้นทางให้กับหน่วยทหารช่างเฉพาะกิจต่างๆ ได้แก่ หน่วยทหารช่างเฉพาะกิจกองทัพภาคที่ ๑ นำกำลังพลพร้อมยุทโธปกรณ์จากพื้นที่ภาคกลาง รับผิดในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จำนวน ๗ เส้นทาง ขณะนี้ได้ทำการก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้วไปแล้ว ๑ เส้นทาง คือ เส้นทางบ้านสะปอม–หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ตำบล กะลุวอเหนือ ระยะทาง ๗.๗ กิโลเมตร ซึ่งได้ทำพิธีเปิดและส่งมอบเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๙ โดย พลโท วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ ๔/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ เป็นประธาน และขณะนี้กำลังก่อสร้างในเส้นที่ ๒ คือ เส้นทางบ้านซิโป–บ้านโซโปฮูลู อำเภอตากใบ ระยะทาง ๔,๒๕๐ เมตร พร้อมได้นำแนวทางการสร้างถนนในใจประชาชนของแม่ทัพภาคที่ ๔/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ด้วยการใช้อุปกรณ์เครื่องมือช่วยเหลือประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ เช่น นำรถบรรทุกน้ำออกแจกจ่ายในพื้นประสบภัยแล้ง ช่วยเหลือในการรื้อผิวถนนปรับพื้นที่เตรียมก่อสร้างอาคารสำนักงานโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงที่ตำบลกะลุวอเหนือ รวมทั้งการพัฒนาสัมพันธ์ร่วมกิจกรรมตามประเพณีในชุมชน ตลอดจนชี้แจงทำความเข้าใจการปฏิบัติของหน่วย และนโยบายของรัฐบาลในการสร้างถนนให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ
       สำหรับพื้นที่จังหวัดยะลา หน่วยทหารช่างเฉพาะกิจกองทัพภาคที่ ๓  นำกำลังและยุทโธปกรณ์จากภาคอีสานเข้าดำเนินการในพื้นที่รับผิดชอบ ๘ เส้นทาง ๘ อำเภอ ขณะนี้กำลังดำเนินการในอำเภอเบตง เส้นทางบ้าน กม.ที่ ๒๗–บ้านปิยะมิตร ตำบลอัยเยอร์เวง ๑ เส้นทาง อำเภอธารโต ๑ เส้นทาง คือสายบ้านชุมชนพัฒนา–บ้านวังไทร ตำบลแม่หวาด และในอำเภอเมือง เส้นทางสายบ้านต้นหยี–บ้านต้นพิกุล ตำบลลำพะยา ๑ เส้นทาง พร้อมกับทำความเข้าใจการปฏิบัติงานของหน่วยตามนโยบายรัฐบาล ด้วยการจัดเวทีประชาคมเพื่อการมีส่วนร่วม ซึ่งได้รับความมือเป็นอย่างดีอันจะเห็นได้จากมีประชาชนจำนวนหนึ่งได้ออกมาช่วยเหลือในการปรับพื้นที่เป็นฐานปฏิบัติการของหน่วยที่ตั้งในบริเวณสำนักสงฆ์บ้านเหมืองประชาสรรค์ อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือในการรักษาความปลอดภัยขณะปฏิบัติงาน  
        ในส่วนของหน่วยทหารช่างเฉพาะกิจกองทัพภาคที่ 4 หน่วยเจ้าของพื้นที่รับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสและปัตตานี รวม ๑๐ เส้นทาง ๑๐ อำเภอ ในส่วนพื้นที่จังหวัดนราธิวาส กำลังดำเนินการที่อำเภอบาเจาะ เส้นทางสายบ้านบือเระ–บ้านชูโว ตำบลบาเระใต้ ๑ เส้นทาง ในอำเภอยี่งอ เส้นทางสาย บ้านบูเกะปาลัส-บ้านกาบุ๊- บ้านต้นตาล ๑ เส้นทาง และอำเภอระแงะ ในเส้นทางบ้านมะรือโบตก – บ้านกำปงบาเระ ๑ เส้นทาง         สำหรับในพื้นที่จังหวัดปัตตานี กำลังดำเนินการในอำเภอสายบุรี เส้นทางสายบ้านสนำคอก-บ้านแป้น ๑ เส้นทาง อำเภอกะพ้อ เส้นทางสายบ้านบาโงสาเมาะ-บ้านตะโละบาโระ ตำบลปล่องหอย ๑ เส้นทาง นอกจากภารกิจทำถนนเป็นหลักแล้ว ยังได้นำเครื่องมืออุปกรณ์ ช่วยเหลือชุมชนด้วยการปรับแต่งแนวคลองระบายน้ำให้กับชาวบ้านบ้านกำปงบาเระ ตำบลมะรือโบตก อำเภอระแงะ จัดอุปกรณ์เครื่องมือเตรียมพื้นที่จัดงานการกุศลสร้างมัสยิดนูรูลยากีม ตำบลกะลุวอเหนือ ช่วยเหลือซ่อมแซมอาคารศูนย์ตาดีกา จ้างช่างตัดผมในหมู่บ้านตัดผมให้กับ   กำลังพลที่ปฏิบัติงาน แบ่งจ่ายน้ำมันสนับสนุนให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านในการมาช่วยรักษาความปลอดภัย  รวมทั้งการจ้างแรงงานจากในพื้นที่ตามนโยบาย

        นอกจากนี้ยังมีหน่วยทหารช่างเฉพาะกิจ กรมการทหารช่าง จากจังหวัดราชบุรีอีก ๑ หน่วย เข้ารับผิดชอบพื้นที่ ๔ อำเภอ ของจังหวัดสงขลา ขณะนี้กำลังดำเนินการในอำเภอนาทวี เส้นทางประปาภูเขา-รพช. หมู่ที่ ๑๒ ตำบลนาทวี ๑ เส้นทาง อำเภอเทพา ในเส้นทางสายโคกเคียน- ท่าคลอง บ้านพรุชิง  ตำบลท่าม่วง ๑ เส้นทาง และในพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย ในเส้นทางสายบ้านสวนชาม - บ้านทุ่งไทรแจ้ ตำบลเขาแดง ๑ เส้นทาง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี เช่นเดียวกันกับหน่วยอื่นๆ ที่นำแนวทางของผู้อำนวยรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ในการสร้างถนนในใจของประชาชนควบคู่กับถนนผสมยางพาราไปพร้อมกัน   
         ที่ผ่านมามีห้วงหนึ่งของสถานการณ์ที่ผู้ก่อเหตุใช้อิทธิพลข่มขู่ไม่ให้ประชาชนให้ความร่วมมือและคบค้ากับเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งทำให้เกิดความเหินห่างและหวาดระแวงไประยะหนึ่ง แต่ปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวได้คลี่คลาย เนื่องจากการปฏิบัติสร้างความเข้าใจ และการช่วยเหลือประชาชนของหน่วยทหารที่อยู่ในพื้นที่ เช่นเดียวกันกับการสร้างถนน ๓๗ เส้นทาง ๓๗ อำเภอในครั้งนี้นอกจากการสร้างถนนแล้ว ทุกหน่วยต้องให้ความช่วยเหลือประชาชน   ในด้านต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีการพึ่งพาอาศัยอย่างญาติมิตร ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนาตามแนวทาง“ประชา รัฐร่วมใจสร้างอำเภอสันติสุข” เพื่อ “สร้างถนนในใจประชาชน” ที่เป็นจุดเชื่อมโยงในการสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกันระหว่างภาครัฐกับประชาชน อันจะนำไปสู่การสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืนต่อไป

 

 

 

 

 

วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559

สลามัตฮารีรายอ

ที่มา นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ ๒๙ มิ.ย.๕๙
โดย ศูนย์ประชาสัมพันธ๋ กอ.รมน.ภาค ๔ สน

      “สลามัตฮารีรายอ”เป็นคำอวยพรแสดงความยินดีของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ในโอกาสวันสำคัญทางศาสนา ๒ วัน คือ วันรายออีฎิ้ลฟิตริ วันฉลองการสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน และวันรายออีฎิ้ลอัดฮา เป็นการฉลองวันออกฮัจญ์ของผู้แสวงบุญ ที่นครเมกกะ ในวันดังกล่าวผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม จะไปรวมตัวทำพิธีละหมาดที่มัสยิด ฟังคุตบะห์ และขอพรจากอัลลอฮฺเพื่อเป็นศิริมงคล ตลอดจนการแสดงความยินดีซึ่งกันและกัน   มีการเลี้ยงอาหาร และเดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้อง วันรายอ นอกจากจะเป็นวันสำคัญทางศาสนาแล้วยังเป็นเทศกาลแห่งความสุขด้วย  ในวันดังกล่าวเราจะได้ยินคำอวยพรว่า“สมามัติฮารีรายอ มาอัฟศอเฮร ดันบาเฏน” ซึ่งมีความหมายว่า“ขอให้มีความสุขเนื่องในวันรายอ และขออภัยในความผิดทั้งต่อหน้าและลับหลัง” 
      วันรายออิฎิ้ลฟิตริ ตรงกับวันที่ ๑ เดือนเซาวาล เป็นเดือนที่ ๑๐ ต่อจากเดือนรอมฎอน ปีฮิจเราะห์ศักราช นับทางจันทรคติโดยการสังเกตการปรากฏขึ้นของดวงจันทร์ทางทิศตะวันตกตอนพระอาทิตย์ตกดิน เมื่อเห็นดวงจันทร์ลักษณะเสี้ยวขึ้น ๑ ค่ำ เป็นสัญญาณของการเริ่มต้นเดือนใหม่ ชาวมุสลิมจะยุติการถือศีลอดและเข้าสู่วันอิฎิ้ลฟิตริ ด้วยการสรรเสริญพระเจ้าทั้งที่บ้านและมัสยิดตั้งแต่ตอนกลางคืน และจะรีบทำการบริจาคทานฟิตเราะห์ ให้เสร็จสิ้นก่อนการละหมาดในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น เป็นการปฏิบัติที่ต่อเนื่องจากการถือศีลอด อันเป็นที่มาและความสำคัญของ                 วันรายออิฎิ้ลฟิตริ หรือวันรายอฟิตเราะห์นั่นเอง  

      การปฏิบัติในวันดังกล่าว มุสลิมจะตื่นนอนตั้งแต่เช้าตรู่ ทำความสะอาดตกแต่งบ้านให้สวยงาม ตลอดจนทำความสะอาดร่างกายพร้อมกับอาบน้ำสุนัตกล่าวดุอาร์ขอพรในขณะอาบน้ำ หลังจากนั้นจะแต่งตัวด้วยเครื่องแต่งกายที่ใหม่และสะอาด เดินทางไปยังมัสยิดเพื่อร่วมละหมาด ในระหว่างรอการละหมาดจะมีการกล่าวซิเกร์สรรเสริญอัลลอฮฺ อยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งอิหม่ามเริ่มดำเนินการนำการละหมาด ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ ๘.๓๐ น. ขณะละหมาดทุกคนจะสำรวมจิตใจแน่วแน่มุ่งตรงต่ออัลลอฮฺ เมื่อละหมาดครบ ๒ รอบ และให้สลาม อิหม่ามจะอ่านคุตบะห์  นำคำสอนการปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิต ย้ำเตือนการทำความดีละเว้นความชั่ว ประพฤติปฏิบัติอยู่ในแนวทางของศาสนา ผู้ฟังจะอยู่ในอาการสำรวม สงบนิ่ง และเมื่ออ่านคุตบะห์จบจะขอพรจากอัลลอฮฺ เพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นอันเสร็จพิธี ทุกคนจะลุกขึ้นแสดงความยินดีและขออภัยในความผิดที่มีต่อกัน เกิดบรรยากาศที่อบอวลด้วยความสุข ความอบอุ่น อวยพรและมอบความสุขให้แก่กัน บรรดาลูกๆ จะขออภัยต่อพ่อแม่ แสดงออกด้วยการสวมกอด การจูบมือ การหอมแก้ม ลูกหลานที่อยู่ต่างภูมิลำเนาจะกลับมาเยี่ยมบ้าน เป็นวันแห่งความสุขที่เกิดขึ้นหลังจากมุ่งมั่นทำความดีในเดือน รอมฎอน ตลอดทั้งเดือน  
      สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ แต่ละบ้านจะมีการเตรียมอาหาร ขนมคาวหวาน สำหรับเลี้ยงญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงที่มาเยี่ยมเยือน และใช้สำหรับนำไปเป็นของฝากเมื่อไปเยี่ยมผู้อื่น นอกจากขนมคาวหวานแล้ว ชาวมุสลิมที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ยังนิยมทำ“ตูปะ”(ขนมต้ม) พร้อมกับแกงเนื้อเป็นของคู่กันประจำเทศกาล ไว้ต้อนรับและมอบเป็นของฝากกันและกัน ถือเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติมาจนปัจจุบัน  
       ส่วนวันรายออีฎิ้ลอัดฮา เป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองการประกอบพิธีฮัจญ์ ตรงกับวันที่ ๑๐ เดือนซุลฮิจยะญ์  ตรงกับห้วงที่ผู้แสวงบุญกำลังประกอบพิธี ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอารเบีย มุสลิมที่อื่นๆ ทั่วโลกที่ไม่ได้ร่วมพิธีดังกล่าวจะทำพิธีละหมาดอีฎิ้ลอัดฮาที่มัสยิด เช่นเดียวกับละหมาดอีฎิ้ลฟิตริ มีการอ่านคุตบะห์ สำหรับคุตบะห์วันรายอ อีฎิ้ลอัดฮา จะนำเรื่องการกุรบานครั้งยิ่งใหญ่ในอิสลามซึ่งเกิดขึ้นกับศาสดาอิบราเฮมที่มีความภักดีต่ออัลลอฮฺ  ถึงขนาดยินยอมจะสละชีพบุตรชาย คืออิสมาแอล เพื่ออัลลอฮฺ ให้มุสลิมได้ระลึกถึง และตระหนักถึงความศรัทธาและเสียสละอันยิ่งใหญ่ รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ที่ควรรับรู้ ซึ่งปัจจุบันบางแห่งมีการจัดละหมาดกลางแจ้งเพื่อรองรับผู้ละหมาดจำนวนมาก อีกทั้งเป็นการละหมาดเพื่ออ่านคุตบะห์ในเรื่องเกี่ยวกับความเป็นไปในสังคมที่ส่งผลกระทบต่อสังคมมุสลิมให้ได้รับรู้ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องและเหมาะสม เสร็จสิ้นการละหมาดก็จะรีบทำการกุรบานเชือดสัตว์แจกจ่ายเป็นทานแก่ผู้ยากไร้ ส่วนใหญ่นิยมนำมาประกอบอาหารเลี้ยงคนหมู่บ้านหรือในละแวกเดียวกัน  
        นอกจากวันรายออีฎิ้ลฟิตริ และวันรายออีฎิ้ลอัดฮา ตามหลักศาสนาแล้ว  ในบางพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีการปฏิบัติที่เรียกว่าวันรายออีกครั้ง โดยจะปฏิบัติในวันที่ ๘ เดือนเซาวาล หลังวันรายอฟิตเราะห์ เรียกว่า “รายอแน” หมายถึงรายอ ๖ ซึ่งไม่กำหนดในศาสนาและไม่มีการละหมาด แต่เนื่องจากในห้วง ๖ วันดังกล่าวผู้ที่ขาดการถือศีลอดจะถือศีลอดชดเชย อีกทั้งเป็นการถือศีลอดสุนัต เมื่อครบกำหนดจะถือโอกาสเป็นวันรายออีกครั้ง ด้วยการทำอาหาร รวมทั้งตูปะ ไปทำกิจกรรมที่กุโบร์ (สุสาน) ร่วมพัฒนาทำความสะอาด เลี้ยงอาหารและร่วมดุอาร์ขอพรให้กับผู้ล่วงลับ เป็นการปฏิบัติที่แสดงความกตัญญูรู้คุณต่อบรรพบุรุษ ซึ่งมีที่มาจากความเชื่อเมื่อครั้งอดีตและยังคงปฏิบัติในบางแห่งในปัจจุบัน      
        แม้ว่าวันรายอจะถูกกล่าวว่าเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองในวันออกบวช หรือออกจากพิธีฮัจญ์ แต่ศาสนาอิสลามไม่ได้ส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมกันอย่างสนุกสนานจนลืมตัว หากแต่ให้ปฏิบัติในขอบเขตของศาสนา และแบบอย่างของศาสดา มีความสำรวม ระลึกถึงอัลลอฮฺ ทำความดี มีความเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์โดยไม่แบ่งเชื้อชาติ เพราะอิสลามถือว่าทุกเชื้อชาติล้วนเป็นประชาชาติเดียวกัน   

      

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2559

คุณค่าการถือศีลอดในเดือนรอมฏอน

ที่มา นสพ.มติชน ฉบับวันที่ ๑๗ มิ.ย.๕๙
โดย ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค ๔ สน.

     การถือศีลอดในเดือนรอมฏอน เป็น ๑ ในหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลาม ซึ่งการปฏิบัติที่สำคัญคือ การงดเว้นจากการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ และการเสพสิ่งต่างๆ ในเวลากลางวัน หลีกเลี่ยงการกระทำที่ขัดกับจริยธรรมอันดีงาม มีความอดทนอดกลั้นต่ออารมณ์ความรู้สึกอันไม่พึงประสงค์ มุ่งมั่นทำความดีช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ สำรวมตนสรรเสริญพระเจ้า สำนึกในความเมตตาที่ให้โอกาสได้พบกับเดือนรอมฎอนอีกครั้ง เพื่อตักตวงทำความดีที่จะได้รับผลบุญเป็นทวีคูณ ซึ่งผู้ที่นับถึงศาสนาอิสลามจะกระทำกิจกรรมต่างๆ เช่น อ่านคัมภีร์อัลกุรอาน ละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ และเอี๊ยะติกัฟใน ๑๐ วันสุดท้าย กระทั่งสิ้นเดือนรอมฎอน จะร่วมละหมาดซูนัต วันอีฎิ้ลฟิตริ ในเช้าตรู่วันต่อมา
     การละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ เป็นการละหมาดเสริม (สุนัต) เพิ่มผลบุญที่มีเฉพาะในเดือนรอมฎอน เป็นการละหมาดที่มีจำนวนหลายรอบและใช้เวลานาน เนื่องจากมีการอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน ในแต่ละรอบของการละหมาด มัสยิดแต่ละแห่งจะนำผู้ที่มีความสามารถด้านการอ่านและจำบทในอัลกุรอานตลอดทั้งเล่ม มาอ่านอย่างถูกต้อง ไพเราะราวบทกวีที่นิพนธ์โดยพระเจ้า ซึ่งนอกจากได้รับผลบุญจากการฟังแล้ว ยังทำผู้ฟังให้ตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของอัลกุรอานที่กล่าวถึงเรื่องราวทั้งในจักรวาล อดีต อนาคต รวมทั้งศาสตร์ต่างๆ ประทานลงมาผ่านศาสดามูฮัมหมัด ผู้ที่ไม่เคยรับการศึกษาได้อย่างน่าอัศจรรย์ นำมาซึ่งความเลื่อมใสศรัทธาให้กับมุสลิมมากยิ่งขึ้น  
   
     ส่วนการเอี๊ยะติกัฟ ใน ๑๐ คืนสุดท้าย เป็นการเข้าพำนักพักอาศัยในมัสยิด ปลีกตัวจากภารกิจทางโลกทั้งปวง เก็บตัวแสวงหาความสงบในจิตใจ ทบทวนสิ่งต่างๆ ในชีวิต เพื่อนำสู่การปรับปรุงและแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด พร้อมกับการอภัยโทษในเดือนแห่งความเมตตา อาจกล่าวได้ว่าการถือศีลอดและการเอี๊ยะติกัฟ คือการชำระบาป ล้างสิ่งโสมมออกจากร่างกายและจิตใจ พร้อมกับการรับผลบุญอันมหาศาลในคืนลัยละตุลก็อดร์ที่จะมีขึ้นใน ๑๐ คืนสุดท้าย ซึ่งมุสลิมทั้งหลายต่างเฝ้าคอย
     สำหรับใน ๓ วันสุดท้าย ของการถือศีลอด ผู้ถือศีลอดจะเริ่มบริจาคทาน (ซะกาต) ซึ่งมี ๒ ประเภท คือ ทานที่ผู้ถือศีลอดทุกคนต้องบริจาคด้วยการจ่ายปัจจัยที่เป็นอาหารสำหรับการบริโภคในประจำวันส่วนใหญ่นิยมใช้ข้าวสาร หรือเป็นเงินสดตามเกณฑ์ที่กำหนด อันเป็นทานบังคับที่จะทำให้การถือศีลอดครบถ้วนสมบูรณ์ รวมทั้งทานบริจาคที่สมัครใจให้กับผู้ยากไร้โดยไม่กำหนดจำนวน ส่วนทานอีกประเภทหนึ่งคือทานทรัพย์สิน สำหรับผู้ที่มีทรัพย์สินคงเหลือในรอบปีที่ผ่านมาตามกำหนด ให้กับผู้มีที่มีคุณสมบัติและสิทธิ์จะได้รับ เช่น คนยากจน เด็กกำพร้า เป็นต้น อันเป็นการจ่ายภาษีทางศาสนาซึ่งมีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยทั้งหมดต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนการละหมาดสุนัตในวันอีฎิ้ลฟิตริ วันสิ้นสุดของการถือศีลอดคือวันที่ ๑ ของเดือนถัดไป มุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียกว่า วันรายอปอซอ หรือรายอฟิตเราะห์ และจะมีการจัดกิจกรรมรื่นเริงตามประเพณี

     การละหมาดสุนัตอีฎิ้ลฟิตริ เป็นอีกหนึ่งการปฏิบัติเสริมที่เพิ่มผลบุญของการถือศีลอด โดยจะทำการละหมาดในตอนเช้าร่วมกันที่มัสยิด พร้อมกับการอ่านคุตบะห์หรือปาฐกถาธรรม ย้ำเตือนการปฏิบัติให้อยู่หลักการอิสลาม ซึ่งประกอบด้วยหลักปฏิบัติ ๕ ประการ คือ การปฏิญาณตนยอมรับอัลลอฮฺเป็นพระเจ้า และมูฮัมหมัด(ซ.ล.)เป็นศาสดา การละหมาดวันละ ๕ เวลา การถือศีลอด การบริจาคทาน และการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์สำหรับผู้ที่มีความสามารถ สำหรับการบริจาคทานหรือซะกาตเป็นข้อปฏิบัติที่ต่อเนื่องหลังจากการถือศีลอดและเผชิญกับความหิวอาหาร ทำให้เข้าใจสภาพของผู้ยากไร้เกิดความเห็นอกเห็นใจ กลายเป็นผู้มีจิตเมตตา นำมาสู่การบริจาคแบ่งบัน สร้างสังคมที่เอื้ออาทรสมานฉันท์และสันติสุขที่เป็นรูปธรรม  
     การถือศีลอดนอกจากเป็นการกระทำที่แสดงถึงศรัทธา เกรงกลัว และซื่อสัตย์ต่อพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ยังส่งผลให้เกิดความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น บังคับควบคุมตนเองให้มีวินัย อยู่ในความดีงาม มีความเมตตา อันเป็นคุณธรรมที่พึงประสงค์ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคมส่วนรวม อีกทั้งยังเกิดประโยชน์ต่อตนเอง ทำให้ผู้ถือศีลอดมีสุขภาพที่ดี ปลอดภัยจากโรคภัยบางอย่างที่มาจากสารอาหารส่วนเกิน ทั้งนี้เนื่องจากสารส่วนเกินจะถูกนำมาทดแทนความขาดแคลนระหว่างการถือศีลอด ส่วนการรับประทานผลอินทผลัม ทำให้ร่างกายลดความอ่อนเพลียจากการอดอาหาร เนื่องจากมีสารบางอย่างที่ทำให้ร่างกายมีความสดชื่น ซึ่งเพิ่งจะมีการค้นพบจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เมื่อไม่นาน ทั้งที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงเรื่องนี้มาแล้วกว่า ๑,๔๐๐ ปี เป็นหนึ่งในความมหัศจรรย์ของคัมภีร์ที่ทำให้นับวันมีผู้ศรัทธาเพิ่มมากขึ้น

     จังหวัดชายแดนภาคใต้ประชาชนส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาอิสลาม ต่างยึดมั่นปฏิบัติตนในหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด ยิ่งปัจจุบันจะเห็นได้ชัดถึงการตื่นตัว โดยเฉพาะในเดือนรอมฎอน จะเห็นได้ว่ามีพี่น้องมุสลิมเป็นจำนวนมากได้ให้ความสำคัญในห้วงเดือนอันประเสริฐนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความก้าวหน้าทางการศึกษา ที่ทำให้ประชาชนมีความรู้ เกิดความศรัทธา และเข้าใจในหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง อีกทั้งนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมและ สนับสนุน ให้ประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม ให้สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเต็มที่ จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจและเพิ่มความศรัทธาให้เกิดการปฏิบัติอย่างกว้างขวาง นับเป็นเทศกาลและวัฒนธรรมแห่งการทำความดีที่งอกงามมาจากหลักศาสนาอย่างที่เห็นในปัจจุบัน อันจะเป็นหนทางนำไปสู่การสร้างความสันติสุขให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป   
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559

รอมฎอนเดือนแห่งสันติสุข

ที่มา หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๙
โดย ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค ๔ สน.
     เดือนรอมฎอน เดือนแห่งการถือศีลอดตามศาสนาอิสลาม ปีนี้เริ่มต้นวันที่ ๗  เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๙ ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามจะงดเว้นจากการรับประทานอาหาร และดื่มน้ำ รวมทั้งการกระทำที่จะนำไปสู่ความเสื่อม รักษาร่างกายจิตใจให้บริสุทธิ์ เปรียบประดุจการเตรียมตัวเข้าเฝ้าพระผู้เป็นเจ้าเพื่อรับความเมตตาและอภัยโทษ อีกทั้งมุ่งมั่น ทำความดีเพื่อรับผลตอบแทนด้วยผลบุญที่มากกว่าเดือนอื่นๆ เป็นทวีคูณ ถือเป็นเดือนอันประเสริฐที่ชาวมุสลิมทั้งหลายต่างรอคอย 
     จังหวัดชายแดนภาคใต้ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีความศรัทธาและปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องยิ่งปัจจุบันความตื่นตัวในการปฏิบัติของประชาชนมีมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการออกมาร่วมละหมาดในเวลากลางคืน ในมัสยิดทุกแห่ง นำความเปลี่ยนแปลงสู่วิถีชีวิตและวิถีสังคมที่นิยมปฏิบัติและศรัทธาในศาสนาอย่างน่าชื่นชม อย่างไรก็ตามก็มีสิ่งที่น่าเป็นห่วงเกิดขึ้น คือ ในห้วง ๓ – ๔ ปี ที่ผ่านมา เดือนรอมฎอน จะถูกนำมาเชื่อมโยงกับเหตุรุนแรง ที่ ผู้ไม่หวังดีพยายามสร้างสถานการณ์โดยไม่คำนึงถึงคุณค่าและความสำคัญของเดือนรอมฏอน ทั้งนี้ก็เพื่อทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อภาครัฐ รวมทั้งสื่อมวลชนเองมักนำเสนอข่าวในเชิงเปรียบเทียบทางสถิติ ทำให้เดือนรอมฎอนกลายเป็นเดือนแห่งการติดตามและเฝ้าระวังการก่อเหตุร้าย ส่งผลให้ภาพลักษณ์และคุณค่าของเดือนรอมฎอน ต้องด่างพร้อยและหม่นหมอง ผู้นำศาสนาและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า รวมทั้งส่วนราชการต่างๆ ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมมือกันเพื่อรักษาคุณค่าและความบริสุทธิ์ไว้  อีกทั้งเพื่อรักษาความสงบสุขให้ประชาชนสามารถปฏิบัติกิจสำคัญได้อย่างสมบูรณ์ จึงได้ร่วมกันกำหนดมาตรการต่างๆ ขึ้นทั้งด้านการป้องกันเหตุร้าย การอำนวยความสะดวก และการส่งเสริม รวมทั้งประชาสัมพันธ์เชิญชวนพี่น้องมุสลิมร่วมประกอบศาสนกิจได้อย่างมั่นใจและพร้อมเพรียง  

     แท้จริงแล้ว มาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงเดือนรอมฎอน ได้มีมาตั้งแต่ ปี ๒๕๔๗ แล้วและมีการพัฒนาปรับปรุงอย่างเป็นระบบ ในช่วง ๔ – ๕ ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า มอบหมายให้หน่วยเฉพาะกิจทุกหน่วย กำหนดมาตรการไม่ให้เกิดเหตุร้ายทำลายบรรยากาศและรบกวนการปฏิบัติศาสนกิจของพี่น้องมุสลิม โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ที่ประชาชนส่วนใหญ่ จะรวมตัวละหมาด    ตะรอเวียะห์ ที่มัสยิดและจะเดินทางไปมาหาสู่กันในเวลากลางคืน โดยปรับการปฏิบัติของจุดตรวจ จุดสกัดต่างๆ ให้ อำนวยความสะดวก ผ่อนปรนการปฏิบัติในห้วงเวลาสำคัญ รวมทั้งบริการแจกจ่ายน้ำดื่มกับผลอินทผาลัมสำหรับผู้ที่อยู่ในระหว่างเดินทางใกล้เวลาละศีลอดให้สามารถละศีลอดได้ตามกำหนดเวลา
     ส่วนด้านการส่งเสริม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สนับสนุนปัจจัยในการละศีลอด เช่น ข้าวสาร น้ำตาล รวมทั้งผลอินทผาลัม  ให้กับมัสยิด ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้สนับสนุนเงินเป็นค่าเลี้ยงอาหารละศีลอด สำหรับผู้ที่เอี๊ยะติกัฟพักแรมในมัสยิด ๑๐ วันสุดท้ายด้วย ส่วนราชการอื่นๆ ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ได้แจกจ่ายปัจจัยต่างๆ ไปยังประชาชนจนถึงครัวเรือน รวมทั้งให้บริการด้านสุขภาพโดยศูนย์แพทย์ทหารบกจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่คอยให้คำแนะนำ และรักษาสุขภาพให้กับประชาชนที่เจ็บป่วย ทั้งใน ที่ตั้งและพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมละศีลอดในช่วงรอมฎอน สืบเนื่องกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรม
     ด้านการประชาสัมพันธ์ ได้มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวน พี่น้องมุสลิมร่วมปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอนผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งจัดทำปฏิทินแสดงเวลาละศีลอดในแต่ละวัน แจ้งเตือนเวลาละศีลอดทางวิทยุกระจายเสียงในแต่ละจังหวัดเป็นประจำทุกวัน และที่สำคัญได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ที่หลบหนีจากการถูกสงสัยให้เข้ารายตัวกลับมาร่วมปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอนกับครอบครัว และเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ซึ่งหลายปีที่ผ่านมามีผู้ต้องสงสัยตามหมายต่างๆ กลับเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญได้จัดให้มีพิธีละหมาดฮายัต ขอพรให้ปราศจากเหตุรุนแรงในช่วงรอมฎอน และออกแถลงการณ์เชิญชวนแนะนำให้ปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง  พร้อมจัดเวทีเสวนาในหัวข้อเกี่ยวกับความสำคัญของเดือนรอมฎอน เผยแพร่ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียง และทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ทั่วประเทศ
     เช่นเดียวกับปีนี้ พลโท วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ ๔/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ได้ให้ความสำคัญโดยสั่งการให้เตรียมการตั้งแต่ก่อนเข้าเดือนรอมฎอน ซึ่งได้มีการประชุมประสานงานกับส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมในทุกด้าน รวมทั้งด้านการประชาสัมพันธ์โดยจัดทำแผนปฏิบัติต่างๆ เช่น วันที่ ๓๐ พฤษภาคม จัดให้มีการแถลงข่าวเชิญชวนประชาชนร่วมละหมาดฮายัต ณ มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ในวันที่ ๑ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๙ พร้อมรับฟังแถลงการณ์ร่วม และการเสวนาของผู้นำศาสนา 
     ซึ่งการเสวนาในปีนี้ มีผู้นำศาสนาและนักวิชาการร่วมเสวนาจำนวน ๓ ท่าน ประกอบด้วย  ดร.อิสมาแอลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ดร.วิสุทธิ์  บินล่าเต๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรี และนายอับดุลฮาซิส  กาแบ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา หัวข้อ “รอมฎอนสันติสุข คืนความสุขสู่ชายแดนใต้” โดยเวทีเสวนาชี้ให้เห็นว่า การถือศีลอดด้วยการงดการกระทำความชั่ว มีความตักวา (ความศรัทธาที่แท้จริง) เกรงกลัวต่ออัลลอฮฺ ที่จะกระทำความผิด และผลของความมุ่งมั่นทำความดีมีความเมตตาปฏิบัติตามหลักการศาสนาและแบบอย่างของศาสดา ซึ่งนอกจากทำให้รับผลตอบแทนด้วยผลบุญอันมหาศาลแล้ว ยังส่งผลต่อความสงบสุขต่อตนเอง ต่อชุมชมปราศจากเหตุร้ายรุนแรง เป็นสังคมสมานฉันท์นำสันติสุขสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั่นเอง   พร้อมนี้ ผู้นำศาสนาได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เชิญชวนพี่น้องชาวไทยมุสลิมร่วมปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอน อย่างเคร่งครัด ลด ละ เลิก สิ่งอบายมุข ตลอดจนการกระทำที่สร้างความเดือดร้อนและเสียหายต่อสังคม ปฏิบัติตนตั้งมั่นในความดี ตลอดเดือนรอมฎอน และตลอดไป 
     เป็นที่น่ายินดีว่าหลังการเข้าสู่เดือนรอมฎอน ในช่วง ๓ สัปดาห์แรก ของปีที่ผ่านมา ไม่ปรากฏเหตุรุนแรงใดๆ การปฏิบัติศาสนกิจเป็นไปอย่างสงบสุข สร้างความรู้สึกยินดีให้กับทุกฝ่าย นับว่าเป็นห้วงระยะเวลาที่เงียบสงบยาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีมานับจากปี ๒๕๔๗ กล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้น ในการลดลงของความรุนแรงมาจนปัจจุบัน และเชื่อว่าเดือนรอมฎอนปีนี้ จะเป็นช่วงแห่งความสงบสุขอีกครั้งหนึ่ง ตามที่ทุกฝ่ายรอคอย